CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

ยูเครนประกาศ เปิดห้องควบคุมเตาปฏิกรณ์ที่ 4 ในเชอร์โนบิล พร้อมให้นักท่องเที่ยวเข้าชม

มันเป็นเรื่องที่หลายๆ คนทราบกันว่าตั้งแต่ที่ช่อง HBO ได้มีการออกฉายซีรี่ส์สั้นเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล ประเทศยูเครน ที่แห่งนี้ก็มีปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

 

เมื่อมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจสถานที่แห่งนี้มากขึ้น ทางรัฐบาลเองก็จะมีมาตรการขยายธุรกิจรองรับการท่องเที่ยวในเชอร์โนบิลให้มีเสนห์น่าดึงดูดมากขึ้นตามไปด้วย

และก็เป็นผลพวงจากความพยายามนี้ รัฐบาลยูเครนประกาศว่าจะมีการเปิดห้องควบคุมและห้องดูแลระบบในเตาปฏิกรณ์ที่ 4 อันเป็นเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ในอดีตทั้งหมด พร้อมให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมได้โดยตรง หลังจากที่มีการปิดพื้นที่มาตั้งแต่ปี 1986

 

 

เหตุผลในการณ์ตัดสินใจเปิดห้องควบคุมเตาปฏิกรณ์ที่ 4 นั้นไม่ได้มีเพียงแค่การเพิ่มจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเป็นการ “เปลี่ยนโฉม” ประวัติศาสตร์ที่เคยถูกตราหน้าว่าเป็นความน่าอับอายระดับสากลของประเทศในอดีตอีกด้วย

แม้นักรังสีจะเคยออกมาตรวจสอบแล้วว่าปริมาณรังสีรอบๆ โรงไฟฟ้านั้นจะไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์ แม้ว่าคนดังกล่าวจะเป็นไกด์ที่ใช้เวลาในพื้นที่ค่อนข้างนานก็ตาม แต่ระดับความเสี่ยงที่ว่าก็เทียบกันไม่ได้เลยกับจุดแกนกลางแหล่งท่องเที่ยวใหม่ล่าสุดนี้

 

 

นั่นเพราะในห้องควบคุมเตาปฏิกรณ์ที่ 4 จะมีระดับรังสีที่สูงกว่าปกติถึง 40,000 เท่า ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวที่สนใจจะเข้าไปเยี่ยมชม จะต้องมีการสวมใส่อุปกรณ์ชุดป้องกันวัตถุอันตรายอย่างรัดกุม (Hazmat Suits)

เพื่อป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวได้รับรังสีมากเกินไป การเที่ยวชมห้องควบคุมจะถูกจำกัดเวลาไว้ที่ 5 นาทีเท่านั้น และเมื่อนักท่องเที่ยวกลับออกมาจากห้องควบคุม พวกเขาจะต้องมีการเข้ารับการทดสอบรังสีวิทยาอีก 2 ครั้งด้วย

 

 

สำหรับห้องควบคุมเตาปฏิกรณ์ที่ 4 นั้นเป็นห้องที่ใช้ควบคุมระบบการทำงานของเตาปฏิกรณ์ที่ 4 อันเป็นจุดเกิดเหตุการรั่วไหล แต่ด้วยระยะห่างจากจุดที่มีการรั่วไหลที่ไม่ห่างกันมาก ทำให้ตัวห้องควบคุมต้องถูกปิดลงไปด้วย

ส่วนเตาปฏิกรณ์ที่ 4 ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุโดยตรงนั้น ยังคงถูกจัดเป็นพื้นที่ต้องห้าม เนื่องจากพื้นที่นี้มีปริมาณรังสีสูงสุดถึง 1,900 เร็มต่อชั่วโมง มากพอจะทำให้มนุษย์มีอันตรายถึงชีวิตได้ในเวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น

 

ที่มา mentalfloss, businessinsider และ livescience


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น