เมื่อพูดถึงภัยพิบัติเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล เชื่อว่าคงมีหลายๆ คนที่นึกภาพของดินแดนแห่งความตายที่สิ่งมีชีวิตไม่อาจที่จะเข้าไปอาศัยอยู่ได้ขึ้นมาเป็นสิ่งแรกๆ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว พื้นที่ของเชอร์โนบิลจริงๆ แล้วมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่มากกว่าที่เราคิด เพราะนอกจากเหล่าสัตว์ป่าที่เริ่มกลับเข้าไปอยู่ในพื้นที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแล้ว เหล่าพันธุ์ไม้ที่อยู่ในพื้นที่เอง โดยมากก็ไม่ได้ตายไปด้วยกัมมันตรังสีมาตั้งแต่แรกแล้วด้วย สังเกตได้จากภาพถ่ายหลายๆ ภาพตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
เชื่อว่าเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงมีเพื่อนๆ หลายคนไม่น้อยที่เริ่มสงสัยกันขึ้นมาแล้วว่าเพราะอะไรกัน ต้นไม้ในพื้นที่เชอร์โนบิลถึงสามารถเอาชีวิตรอดได้ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยระดับกัมมันตรังสีที่สูงจนคนคงตายไปสักสิบรอบได้
เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าอันตรายของกัมมันตรังสีต่อสิ่งมีชีวิตนั้นโดยมากแล้วจะมาจากการที่มันส่งผลกระทบต่อเซลล์และ DNA ของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะโดยการทำให้เซลล์ตายไปอย่างรวดเร็ว (ในกรณีที่โดนกัมมันตรังสีมากๆ) หรือทำให้เซลล์เปลี่ยนแปลงไปจากที่ควร (อย่างเนื้องอก หรือมะเร็ง)
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ย่อมเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าและมนุษย์อย่างเห็นได้ชัด เพราะเซลล์และอวัยวะในร่างกายของเรานั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำงานไปด้วยกัน ดังเช่นที่มนุษย์จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้หากขาดสมอง หัวใจ หรือปอด
กลับกันสำหรับพืชแล้ว พวกมันมีระบบภายในที่ยืดหยุ่นกว่ามนุษย์และสัตว์มาก เนื่องจากพวกมันไม่สามารถขยับตัวเพื่อหนีจากพื้นที่อันตรายได้ ดังนั้นแทนที่จะมีโครงสร้างที่ถูกกำหนดตายตัวแบบสัตว์ พืชจะ “สร้าง” โครงสร้างขึ้นในระหว่างที่มันเติบโต
และหนึ่งในความสามารถที่สำคัญที่สุดในการสร้างโครงสร้างขึ้นมาใหญ่ของพืช ก็คือความสามารถในการสร้างเซลล์ทุกชนิดที่ต้นไม้ส่วนนั้นต้องการขึ้นมาใหม่นั่นเอง (เช่นการที่เราสามารถงอกรากพืชจากกิ่งที่ตัดมาได้เป็นต้น)
ความสามารถทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ช่วยให้พืชทดแทนเซลล์ที่เสียไปจากกัมมันตรังสีได้ดีต่อสัตว์มาก อีกทั้งต่อให้ DNA ของพวกมันได้รับความเสียหายจนสร้างเนื้องอกขึ้นมา เนื้องอกเหล่านั้นก็มักจะไม่กระจายไปตามส่วนต่างๆ เหมือนมะเร็งในสัตว์ ด้วยระบบผนังรอบเซลล์พืช ทำให้ต่อให้มีเนื้องอกพืชก็จะสามารถจัดการกับมันได้ง่ายๆ
เท่านั้นยังไม่พอนักเมื่อนักวิจัยลองทำการตรวจสอบพืชในพืชที่เชอร์โนบิล พวกเขาก็ยังพบอีกว่าพืชเหล่านี้นั้นมีการปรับเปลี่ยนสารเคมีในตัวเองเพื่อให้ตัวเองได้รับความเสียหายจากกัมมันตรังสีได้ยากขึ้นอีกด้วย
เรียกได้ว่าเป็นการปรับตัวที่น่ากลัวมากๆ จนไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมพืชจึงสามารถเอาชีวิตรอดจากเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลมาได้
และก็เป็นพลังแห่งการปรับตัวนี้เองที่ทำให้แนวคิดเรื่องดินแดนรกร้างหลังสงครามนิวเคลียร์ที่สื่อต่างๆ นำเสนอในปัจจุบัน เปลี่ยนไปจากทะเลทรายกว้างเป็นป่าเขียวขจีไปในช่วงหลายปีมานั่นเอง
ที่มา livescience
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น