CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

ยูเครนประกาศรื้อถอน “โลงหิน” ที่ปิดผนึกโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล คาดแล้วเสร็จในปี 2023

ย้อนกลับไปในปี 1986 ราวๆ 2 เดือนหลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติไม่คาดฝันที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลคนงานของสหภาพโซเวียตร่วม 600,000 ชีวิต ได้เสี่ยงชีวิตสร้าง “โลงหิน” (Sarcophagus) ขนาดใหญ่จากเหล็กและปูน ครอบพื้นที่เครื่องปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าเอาไว้ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของวัสดุกัมมันตรังสี

 

โลงหินปกปิดส่วนที่อันตรายของโรงไฟฟ้า

 

โลงหินแห่งนี้ต่อสู้กับทั้งกัมมันตรังสีและสภาพอากาศมานานหลายทศวรรษ และค่อยๆ เสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ทีละน้อย จนกระทั่งถึงจุดที่มันคงจะพังลงในอนาคตอันใกล้

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางรัฐบาลของยูเครนจึงได้มีการออกมาประกาศจ้าง บริษัทดูแลและจัดการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้มาทำการรื้อถอน โดยมีกำหนดการที่จะแล้วเสร็จภายในปี 2023 ที่จะถึงนี้

 

 

อาจจะเป็นการตัดสินใจที่น่ากลัวสำหรับหลายๆ คน แต่ในความเป็นจริงแล้วการรื้อถอนในครั้งนี้ ได้รับการยืนยันแล้วว่าจะไม่ทำให้กัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาอย่างแน่นอน

นั่นเป็นเพราะในปี 2016 ทางการยูเครนนั้นได้มีการสร้างสิ่งก่อสร้างเหล็กขนาดใหญ่ที่ชื่อ “New Safe Confinement” โดมคลุมโรงไฟฟ้าพร้อมๆ กับคลุมโลงหินไว้อีกชั้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเจ้าสิ่งก่อสร้างเหล่านี้เอง ก็จะทำหน้าที่แทนโลงหินที่กำลังจะหมดอายุไขต่อไป

 

New Safe Confinement ซึ่งคลุมโรงไฟฟ้าไปพร้อมๆ กับโลงหิน

.

 

New Safe Confinement นั้นออกแบบมาใช้สามารถทำหน้าที่เก็บกักกัมมันตรังสีไปได้อีกนานกว่า 100 ปี และทนทานมากพอที่จะรับพายุทอร์นาโดได้ตรงๆ ซึ่งผิดจากโลงหินด้านล่างที่สร้างขึ้นอย่างเร่งรีบเพื่อกักกันกัมมันตรังสีในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ

ทั้งนี้เองแม้ว่าตัวโลงหินจะใกล้พังเต็มทนแล้วก็ตาม การรื้อถอนก็ยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายอยู่ดี เพราะนอกจากเรื่องสารกัมมันตรังสีแล้ว การรื้อถอนโลงหินก็ไม่สามารถใช้การทุบทำลายตามปกติได้

 

ภายในโดม New Safe Confinement

 

โดยตามกำหนดการแล้ว เจ้าหน้าที่จะต้องทำการแยกชิ้นส่วนของโลงหินออกมาทีละชิ้น และนำออกจากพื้นที่ไปขจัดการปนเปื้อน ในขณะที่ต้องมีการทำโครงเหล็กป้องกันไม่ให้โลงหินถล่มก่อนเวลาอันควรไปในเวลาเดียวกัน และทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนสามารถนำโลงหินออกมาได้ทั้งหมด

ซึ่งหากคำนวนค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกระบวนการเหล่านี้แล้ว ผู้เชี่ยวชาญก็คาดกันว่าการรื้อถอนในครั้งนี้ อาจจะต้องใช้งบประมาณมากถึง 78 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 2,400 ล้านบาทเลยทีเดียว

 

ที่มา livescience, chnpp, sciencealert และ ladbible


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น