CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

เปิดตำนาน “Cicada 3301” เรื่องราวการตามล่าไขปริศนาที่ได้ชื่อว่า “ลึกลับที่สุด” แห่งโลกออนไลน์

เคยได้ยินเรื่องราวของปริศนาลึกลับที่ชื่อ “Cicada 3301” กันมาก่อนไหม? 

นี่คือปริศนาองค์กรลึกลับแห่งโลกออนไลน์ ที่ว่ากันว่ากำลังรวบรวมกลุ่มคนฝีมือดีจากทั่วโลก เพื่อเหตุผลบางอย่างที่เรายังคงไม่สามารถไขได้ แม้ในปัจจุบันก็ตาม

 

 

เรื่องราวของ Cicada 3301 เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 4 มกราคม 2012 เมื่อในเว็บบอร์ดชื่อดังอย่าง 4chan ได้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชื่อ  Cicada 3301 นำรูปข้อความพื้นหลังสีดำมาโพสต์บนโลกออนไลน์ โดยในรูป ระบุข้อความว่า

 

สวัสดี เรากำลังตามหาบุคคลที่ชาญฉลาด เราจึงออกแบบการทดสอบขึ้นมา 

ในรูปนี้มีข้อความซ่อนอยู่ จงหามันให้เจอและมันจะนำไปสู่เส้นทางในการตามหาเรา 

เรารอคอยที่จะพบคนกลุ่มเล็กๆ ที่สามารถผ่านบททดสอบทั้งหมดได้

ขอให้โชคดี 3301

 

 

แน่นอนว่าในตอนแรกโลกออนไลน์ก็มองว่าเรื่องราวที่ออกมานั้น มันช่างไร้สาระ อย่างไรก็ตามด้วยความว่าง บวกกับความสงสัย ไม่นานนักก็มีคนพบว่า

ในรูปนี้จริงๆ แล้วหากเอาไปเปิดด้วย Notepad มันจะนำไปสู่คำว่า CLAVDIVS CAESAR says ซึ่งหากเราเอาคำข้างหลังนี้ไปเข้ารหัสด้วยการเลื่อนตัวอักษรหรือ “Caesar Cipher” พวกเขาก็จะไขรหัสข้อความนี้ได้จริงๆ

และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการไล่ล่าถอดรหัส ที่จะกลายเป็นตำนานแห่งโลกออนไลน์

 

 

– เมื่อถอดรหัสข้อความข้างบนออกมา มันจะนำคุณไปสู่ลิงก์ภาพเป็ดแปลกๆ ที่บอกว่า “อุ๊ป นี่มันแค่ตัวหลอกจ้า”

– แต่หากเราเอารูปตัวหลอกนี้ไปเปิดด้วยโปรแกรมแบบเฉพาะ รูปดังกล่าวก็จะพาคุณไปยังลิงก์ Reddit ลับ 

 

ลิงก์ภาพเป็ดที่เป็นรูปตัวหลอก

 

– โดนในลิงก์ Reddit ลับ จะมีข้อมูลของหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งหากถอดรหัสด้วยการเอาตัวอักษรที่กำหนดมาร่วมกัน

– ในหนังสือนี้จะสามารถถอดรหัสออกมาเป็นเบอร์โทร (214) 390-9608 (ซึ่งในปัจจุบันโทรไปไม่ได้แล้ว)

 

 

ลิงก์ Reddit ลับ

 

– เมื่อโทรไปตามเบอร์ที่ได้มาจะมีข้อความพร้อมคำใบ้เกี่ยวกับชุดตัวเลขมาให้

– ซึ่งเมื่อนำเลขนี้คูณกับชุดเลขที่ซ่อนอยู่ในภาพถ่ายภาพแรกเราจะได้ลิงก์เว็บซึ่งมีนาฬิกานับถอยหลัง

– พอเวลาหมดลงตัวเว็บจะมีตัวเลขพิกัดพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกอยู่

– เมื่อชาวเน็ตเดินทางไปยังสถานที่เหล่านั้น พวกเขาก็พบว่ามีกระดาษพร้อม QR code แปะเอาไว้อยู่ตามพื้นที่ต่างๆ

 

 

– QR code นี้จะนำไปสู่รูปภาพจักจั่นอีกภาพ

– ภาพดังกล่าวจะมีข้อความซึ่งกล่าวถึงหนังสือ

 

 

– หนังสือจะนำไปสู่หน้าเว็บ ที่มีข้อความว่า “เราต้องการคนที่ดีที่สุด ไม่ใช่แค่ผู้ติดตาม” 

 

 ก่อนที่ปริศนาจะขาดช่วงลงไปเฉยๆ

 

 

ดูเหมือนว่าหน้าเว็บนี้จะถูกออกแบบมาให้แสดงผลปริศนาจริงๆ กับคนที่เขามาเป็นกลุ่มแรกๆ เท่านั้น โดยหนึ่งในคนเหล่านั้น คนที่น่าเชื่อถือที่สุดก็คงไม่พ้นชายชื่อ Marcus Wanner

โดยเขานั้นบอกว่าหากคุณเข้าเว็บของ Cicada 3301 เป็นกลุ่มแรกๆ คุณจะได้รับอีเมลซึ่งต้องถอดรหัสด้วยภาษา Python มา

 

Marcus Wanner ชายผู้อ้างตัวว่าไขปริศนาในปีแรกของ Cicada 3301 ได้

 

หากคำตอบของคุณถูกต้องคุณจะได้รับไฟล์เพลง midi มา 1 ไฟล์ซึ่งเป็นเสียงเปียโน

และหากคุณไขมันได้อีก ทาง Cicada 3301 จะติดต่อมาโดยตรง เพื่อเป็นการส่งคำเชิญแบบส่วนตัวสำหรับผู้ที่ได้ไปต่อโดยตรง

ราวๆ 1 เดือนหลังจากโพสต์ข้อความต้นฉบับถูกเผยแพร่ออกไป Cicada 3301 ก็ออกมา ส่งข้อความบอกว่าพวกเขาได้เจอคนที่พวกเขาต้องการแล้วในที่สุด

ดังนั้นคงไม่มีใครที่ทราบได้ว่าเรื่องราวปริศนาในครั้งนี้ ตกลงแล้วมันจบลงอย่างไร… เว้นก็แต่ Marcus และเหล่าผู้ที่ได้เข้ารอบสุดท้ายเท่านั้น

 

ข้อความสุดท้ายของปี 2012 ที่ได้รับการยืนยันว่ามาจาก Cicada 3301 จริงๆ

 

เรื่องราวการเดินตามหาปริสนาบนโลกออนไลน์นี้แน่นอนว่าย่อมทำให้หลายๆ คนตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับตัวตนของ Cicada 3301

ตกลงแล้วพวกเขาเป็นใครกันแน่? และพวกเขาต้องการอะไรจากเหล่าผู้ที่เขารอบสุดท้ายของการทดสอบได้?

เจ้าหน้าที่จากลอสอันเดสของชิลี อ้างว่า Cicada 3301 นั้นเป็นกลุ่มแฮ็กเกอร์ที่ทำงานผิดกฎหมาย

ในขณะที่ชาวเน็ต หลายๆ คนมองว่า พวกเขาอาจจะเป็นตัวแทนของ FBI หรือ CIA ที่ออกมาตามหาบุคลากรใหม่ๆ ไม่ก็ลัทธิคลั่งเทคโนโลยี คลั่งปริศนา ที่แค่ตามหาสมาชิกเพิ่มด้วยวิธีการแปลกๆ

 

 

หากคำพูดของ Marcus เชื่อถือได้ เขานั้นก็บอกว่า Cicada 3301 แท้จริงแล้วเป็นกลุ่มคนที่มีเป้าหมายในการร่วมกันคิดค้นและพัฒนาระบบความปลอดภัย เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เท่านั้น

แถมการรวมกลุ่มคนเหล่านี้ก็ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จนักด้วย เนื่องจากผู้ไขปริศนาได้กลุ่มหลังๆ คิดว่าตนจะได้ทำงานกับหน่วยงานลับ และผิดหวังจนไม่นานการติดต่อกับพวกเขาก็ขาดหายไปโดยสิ้นเชิง

แต่เรื่องราวของ Cicada 3301 ก็ไม่ได้จบลงแค่นี้แต่อย่างไร…

 

 

นั่นเพราะในวันที่ 4 มกราคม ปี 2013 เหล่า Cicada 3301 ก็กลับมาพร้อมปริศนาอีกชุด ซึ่งแม้ว่าจะมีการไขรหัสคล้ายๆ ของเดิม (เช่นไขรหัสจากภาพ หรือตามหาป้ายบนโลกจริง) แต่ก็ทวีความยากขึ้น

อย่างการใช้เพลงตั้งแต่ในการคัดคนรอบแรกๆ หรือการใช้ตารางอักษรลับที่มีภาษารูน ซึ่งทาง Cicada 3301 ดูจะเขียนขึ้นมาเอง และอักษรูนเหล่านี้บางส่วนก็ยังคงไม่มีใครไขได้เลยด้วย

 

The Instar Emergence บทเพลงจากปริศนาครั้งที่ 2 ซึ่งมีรหัสลับที่จะนำไปสู่ปริศนาขั้นต่อไปซ่อนอยู่

 

ตารางอักษรลับจากปริศนาครั้งที่ 2 ของ Cicada 3301

 

เชื่อกันว่าในท้ายที่สุด Cicada 3301 ก็ได้คนที่ต้องการเข้าไปยังรอบสุดท้าย และหายไปอีกครั้งหลังจากนั้น

อย่างไรก็ตามต่างจากตอนปี 2012 ในการคัดคนรอบนี้ ทาง Cicada 3301 ไม่ได้ส่งจดหมายอย่างเป็นทางการว่าพวกเขาได้คนที่ต้องการแล้วแต่อย่างไร จะมีก็แต่จดหมายที่ว่ากันว่า “หลุด” จากผู้ผ่านเข้ารอบหลังๆ

ซึ่งบอกว่า “ยินดีด้วย ในที่สุดการทดสอบของคุณก็สิ้นสุดลงแล้ว” ก็เท่านั้น

 

 

เมื่อถึงจุดนี้ผู้คนก็เริ่มตั้งข้อสังเกตกันแล้วว่า Cicada 3301 น่าจะมีการ “เปิดรับสมัคร” อยู่ทุกๆ ปี 

และแนวคิดของพวกเขาก็ไม่ผิดนักเพราะในวันที่ 4 มกราคม 2014 ทาง Cicada 3301 ก็กลับมาพร้อมกับปริศนาชุดที่ 3 จริงๆ 

 

Interconnectedness บทเพลงจากปริศนาครั้งที่ 3 ซึ่งแน่นอนว่ามีรหัสลับซ่อนอยู่เช่นกัน

 

ปัญหาคือปริศนาในจุดนี้ เรียกได้ว่ายากที่สุดเท่าที่เคยมีมาเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากขั้นตอนที่หลายคนคุ้นเคยกันแล้ว

ทาง Cicada ยังได้มีการจัดปริศนาเป็นหนังสือภาษารูนทั้งเล่ม ซึ่งต้องใช้ตารางจากปริศนาครั้งที่สองไข

และต่อให้มีตารางอันเก่าช่วยก็ตาม เจ้าหนังสือนี้เอง ก็ไม่มีใครถอดรหัสได้อย่างสมบูรณ์เลยแม้ในปัจจุบันอยู่ดี ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเวลานานเกินไป จนถึงขนาดที่ผู้คนเริ่มหมดไฟในการหาคำตอบของปัญหานี้กันไปเลย

 

 

ดังนั้นแม้ Cicada 3301 จะออกมาบอกให้ผู้คนพยายามไขปริศนาของปี 2014 อยู่บ้างเป็นบางครั้งก็ตาม

แต่ต่อมาพวกเขาก็หายตัวไปอย่างลึกลับแบบแทบจะสมบูรณ์ ทิ้งปริศนาของปี 2014 ไว้แบบนั้น ราวกับว่ากำลังรอคอยอย่างใจเย็นที่สักวันปริศนาของพวกเขาจะถูกไข และมันก็ไม่แน่เหมือนกันว่าหากวันนั้นมาถึง

 

Cicada 3301 ก็อาจจะกลับมาผงาดอีกครั้ง ในฐานะปริศนาในตำนาน

ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งโลกอินเทอร์เน็ตก็เป็นได้

 

ที่มา uncovering-cicada และ LEMMiNO


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น