สำหรับพื้นดินที่รัฐนอร์ทดาโคตา มันไม่ใช่สถานที่ที่แปลกเท่าไหร่สำหรับการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ไม่ใช่ของที่จะพบได้บ่อยๆ เช่นกัน
ดังนั้นแล้วในตอนที่นักศึกษาวิชาชีววิทยาปี 5 จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย คุณ “Harrison Duran” ได้มีโอกาสค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ไทรเซอราทอปส์ อายุร่วมกว่า 65 ล้านปีในพิ้นที่ เขาจึงรู้สึกตื่นเต้นกับผลงานของตัวเองเป็นอย่างมาก เพราะการค้นพบไดโนเสาร์นั้น นับว่าเป็นความใฝ่ฝันของเขา มาตั้งแต่ในวัยเด็กแล้ว
โดยคุณ Harrison นั้นได้พบกับฟอสซิลไดโนเสาร์ในฝันชิ้นนี้ที่เฮลล์ ครีก ฟอร์เมชั่นแนวชั้นหินโบราณที่ทอดยาวผ่านรัฐ 4 รัฐได้แก่ รัฐมอนแทนา รัฐนอร์ทดาโคตา รัฐเซาท์ดาโคตา และรัฐไวโอมิง ซึ่งถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 1902 โดยนักบรรพชีวินนาม Barnum Brown
ด้วยความที่เขาทราบประวัติศาสตร์ของแนวชั้นหินที่นี่เป็นอย่างดีคุณ Harrison จึงตัดสินใจที่จะเดินทางมาขุดค้นที่นี่พร้อมๆ กับ คุณ Michael Kjelland ผู้มีประสบการณ์ด้านการขุดค้นฟอสซิลและเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเมย์วิลล์
คุณ Harrison Duran ในวัยเด็ก
พวกเขาเริ่มการขุดค้นที่นี่ตั้งแต่ในช่วงเดือนมิถุนายน ก่อนที่ในเวลาราวๆ 2 สัปดาห์ต่อมา พวกเขาจะพบกับฟอสซิลส่วนหัวของไทรเซอราทอปส์ไดโนเสาร์กินพืชที่มีจุดเด่นอยู่ที่จะงอยปากคล้ายนกแก้ว และเขาสองอันบนส่วนหัว ซึ่งหากดูเผินๆ จะคิดว่ามันมี 3 เขา
คุณ Harrison ตั้งชื่อฟอสซิลที่เขาและเพื่อนพบว่า “Alice” และภูมิใจกับการค้นพบในครั้งนี้มากๆ เพราะแม้ว่าไทรเซอราทอปส์จะไม่ใช่ไดโนเสาร์หายาก หรือเป็นชนิดใหม่ แต่สำหรับคุณ Harrison แล้วนี่นับว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตเลย
ดังนั้นแล้วไม่นานหลังจากที่ค้นพบฟอสซิลชิ้นนี้ คุณ Harrison และเพื่อน จึงได้ตัดสินใจที่จะจัดตั้งบริษัท ที่ไม่แสวงหาผลกำไร “Fossil Excavators” ขึ้นมา โดยที่พวกเขามีเป้าหมายที่จะค้นหาและอนุรักษ์ฟอสซิลแบบ Alice ในขณะที่ให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับกระบวนการขุดค้นฟอสซิลโบราณไปในเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้เองหลังจากที่ถูกพบฟอสซิลของ Alice ก็ถูกเคลือบด้วยฟอยล์และปูนปลาสเตอร์ ก่อนที่จะถูกส่งให้กับห้องแล็บ เพื่อทำการวิจัยฟอสซิลชิ้นนี้ต่อไป
ที่มา cnn, washingtonpost, allthatsinteresting
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น