สำหรับคนที่ติดตามข่าวสาร ภาวะทางระบบนิเวศของโลก เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่าในปัจจุบัน แนวปะการังหลายแห่งในโลก กำลังค่อยๆ ลดลงไป แต่คำว่า “ลดลงไป” ที่ว่านั้น แท้จริงแล้วมันมากน้อยขนาดไหน กลับไม่ใช่เรื่องที่เป็นที่ทราบเท่าที่ควรเท่าไหร่
แต่แล้วเมื่อล่าสุดนี้เอง นักวิจัยนานาชาติ ที่นำโดยคุณ David Gruber จากมหาวิทยาลัย Baruch College ก็ได้มีการออกมาตีพิมพ์งานวิจัยที่อาจจะเป็นเรื่องที่น่าใจหายสำหรับหลายๆ คนก็ได้
นั่นเพราะหลังจากที่พวกเขาออกสำรวจแนวปะการังจำนวนมากในปัจจุบัน ก่อนจะนำข้อมูลที่ได้ไปเปรียบเทียบกับฟอสซิลของปะการังจากช่วงเวลาตลอด 250 ล้านปีก่อน พวกเขาก็พบว่า
ในปัจจุบันปะการังบนโลกของเรานั้น กำลังมีการแสดง “ลักษณะการเตรียมรับภัยพิบัติ” เช่นเดียวกับที่มันเคยทำ ในตอนที่เอาตัวรอดจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เมื่อ 66 ล้านปีก่อนไม่มีผิด
อ้างอิงจากข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ออกมาลักษณะการเตรียมรับภัยพิบัติที่พวกเขากล่าวมานี้ มีตัวอย่างเช่น ความถี่ที่สูงขึ้นของการอาศัยในที่น้ำลึกกว่าปกติ ขนาดอาณานิคมที่เล็กลงหรือการแยกไปอาศัยแบบเดี่ยวๆ และความต้านทานการฟอกสีที่มากขึ้น
“มันเป็นเรื่องที่มันน่าขนลุกอย่างเหลือเชื่อที่ เราต้องเห็นว่าปะการังกำลังแสดงลักษณะเช่นเดียวกับที่เคยทำในเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งล่าสุด” คุณ David Gruber กล่าว “มันราวกับว่าปะการังกำลังเตรียมพร้อมที่จะกระโดดข้ามขอบเขตการสูญพันธุ์ ในขณะที่มนุษย์เรากำลังเหยียบคันเร่งสู่การสูญพันธุ์ที่ว่า”
จริงอยู่ว่าในงานวิจัยที่ออกมาจะไม่ได้มีการกล่าวอย่างชัดเจนว่า “ภัยพิบัติ” ที่ปะการังกำลังเตรียมการรับมืออยู่นั้น คือเหตุการณ์อะไร ถึงอย่างนั้นก็ตาม เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงจะเดากันได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนเป็นแน่
นั่นเพราะในปัจจุบันเราได้พบกับปัญหาปะการังฟอกขาว (เป็นผลจากการสูญเสียสาหร่ายที่ชื่อว่า ซูแซนเทลลีซึ่งปกติอยู่ร่วมกับปะการังแบบพึ่งพากัน และอาจจะทำปะการังอ่อนแอลงหรือตายได้) อย่างรุนแรง จากผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อแนวปะการัง
และแน่นอนว่าหากปล่อยไว้โดยไม่ทำอะไรปะการังในโลกก็จจะลดลงจนถึงจุดที่เสี่ยงสูญพันธุ์ได้ ในภายในไม่กี่สิบปีข้างหน้าเท่านั้น
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น