ด้วยสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงจะเริ่มได้ยินข่าวอาการร้ายแรงที่มากับโรคร้ายนี้กันบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการทำลายปอด หรือความเป็นไปได้ในการทำให้หัวใจล้มเหลว
แต่ล่าสุดนี้เอง ดูเหมือนว่าเราจะพบอาการร้ายแรงของโรคโควิด-19 เข้าอีกอย่างแล้ว เมื่อนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งชาติสเปนได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลสนาม COVID-IFEMA ตรวจสอบผู้ป่วยโรคโควิดและพบว่า
ผู้ป่วยที่เคยหรือกำลังเป็นโรคโควิด-19 ในระดับรุนแรงนั้น จะมี DNA ชื่อเทโลเมียร์ (Telomeres) ที่สั้นลง นำมาซึ่งความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยจะมีอายุสั้นลงตามไปด้วย
เทโลเมียร์นั้น เป็น DNA ที่อยู่ส่วนปลายสุดของโครโมโซมทั้ง 32 คู่ มีหน้าที่ปกป้องโครโมโซมไม่ให้ถูกทำลาย และจะสั้นลงเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป
ทำให้ที่ผ่านๆ มามีแพทย์หลายกลุ่มมากที่เชื่อว่าการเพิ่มหรือรักษาความยาวของเทโลเมียร์นั้น อาจจะช่วยเพิ่มความสามารถในการซ่อมแซมร่างกาย ชะลอการแก่ชรา หรือแม้แต่เป็นกุญแจสำคัญสู่ยาอายุวัฒนะก็เป็นได้
ปัญหาคือ ในการตรวจสอบผู้ป่วยโควิด-19 ระดับรุนแรง จำนวน 89 ราย (ชาย 28 ราย หญิง 61 ราย) ของทีมวิจัยที่นำโดยคุณ Maria A. Blasco พวกเขากลับพบว่า
ผู้ป่วยแทบจะทั้งหมดนั้น ล้วนแต่มีเทโลเมียร์สั้นกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับอายุทั้งสิ้น และยิ่งผู้ป่วยมีระดับอาการของโรคแรงขึ้นเท่าไหร่ พวกเขาก็มีแนวโน้มจะมีเทโลเมียร์สั้นลงตามไปด้วย
“พวกเราเริ่มสนใจการทดลองนี้หลังพบว่า ผู้ติดเชื้อ SARS-CoV-2 มักจะมีเนื้อยื้อลักษณะคล้ายพังผืดในปอดและไต บ่งชี้ว่าการติดเชื้ออาจไปลดศักยภาพในการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ลง”
คุณ Maria A. Blasco นักเขียนหลักของงานวิจัยระบุ
“การพบว่าเซลล์ชนิดนี้มีความเกี่ยวข้องกับโควิด-19 ทำให้ฉันสันนิษฐานทันทีว่าเทโลเมียร์เอง ก็อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับโรคนี้เช่นกัน”
แน่นอนว่าแนวคิดว่าโรคโควิด-19 ไปทำให้เทโลเมียร์สั้นลงนั้น ในปัจจุบันอาจจะยังเป็นแค่ข้อสันนิษฐานที่ยังต้องการการพิสูจน์ต่อไปอยู่ แต่อย่างน้อยๆ มันก็เป็นข้อสันนิษฐานที่ค่อนข้างมีน้ำหนัก
และหากแนวคิดนี้เป็นจริง การสั้นลงของเทโลเมียร์ก็อาจจะช่วยอธิบายได้เป็นอย่างดีว่าทำไมโรคโควิด-19 ถึงสามารถทำให้ปอดของมนุษย์เสียหายในระยะยาวได้เช่นนี้ก็เป็นได้
ที่มา iflscience, cnio
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น