จากการศึกษาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับอายุขัยของเชื้อไวรัส COVID-19 บนพื้นผิวภายนอกระบบทางเดินหายใจ เราได้ทราบกันบ้างแล้วว่ามันสามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิววัสดุภายนอกได้ในระยะเวลาที่แตกต่างกัน
ล่าสุดทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง (HKU) ได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับอายุขัยของไวรัส COVID-19 ทำการตีพิมพ์รายงานผ่านวารสาร The Lancet เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2020
นำทีมโดย Leo Poon Lit-man หัวหน้าแผนกห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และ Malik Peiris นักไวรัสวิทยาทางคลินิกและสาธารณสุข
ความคงทนของ SARS-CoV-2 หรือ COVID-19 นั้นแต่เดิมสามารถอยู่บนผิวสเตนเลสหรือพลาสติกได้ประมาณ 4 วัน นอกจากนั้นแล้วทีมวิจัยยังค้นพบเพิ่มเติมว่าสารฆ่าเชื้อในครัวเรือนทั่วไปรวมถึงน้ำยาฟอกขาว ก็มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อด้วย
ต่างพื้นผิวกับระยะเวลาที่ไม่เท่ากัน
SARS-CoV-2 สามารถอยู่ได้นานในสภาวะที่เหมาะสม แต่ก็ไม่ทนทานต่อวิธีการฆ่าเชื้อที่ถูกต้องตามมาตรฐานทั่วไป ด้วยเหตุเช่นนี้นักวิจัยจึงทำการทดลองว่าไวรัสจะสามารถคงอยู่บนพื้นผิวต่างๆ ได้นานมากน้อยแค่ไหนภายใต้อุณหภูมิห้อง
– กระดาษทั่วไปและกระดาษทิชชู่ อยู่ได้น้อยกว่า 3 ชั่วโมง
– บนเนื้อไม้และเสื้อผ้า เช่นเสื้อโค้ทห้องแลป อยู่ได้ประมาณ 2 วัน
-แก้วและธนบัตร ยังคงมีชีวิตยืนยาวถึงวันที่ 2 แต่หายไปในช่วงวันที่ 4
– สเตนเลสและพลาสติก อยู่ได้นาน 4 ถึง 7 วัน
นอกจากนั้นแล้วทีมวิจัยศึกษาเพิ่มเติมค้นพบว่าเชื้อไวรัสสามารถคงอยู่บนเยื่อชั้นนอกของหน้ากากอนามัยหลังผ่านไปได้ประมาณ 7 วัน
นั่นจึงเป็นเหตุสำคัญที่ว่าหากสวมใส่หน้ากากอนามัยที่มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสหรือไม่ก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหน้ากากด้านนอกให้มากที่สุด
“เพราะคุณสามารถปนเปื้อนมือตัวเองได้ และหากคุณสัมผัสกับดวงตาไวรัสก็จะปนเปื้อนเข้าสู่ดวงตาของคุณเช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม การหมั่นล้างมือให้สะอาดยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะไปไหนมาไหน หยิบจับอะไรมาก็ตาม ควรปฏิบัติให้เป็นกิจวัตร และหลีกเลี่ยงการสัมผัสหน้ากากอนามัยเมื่อใช้แล้ว
หมั่นซักล้างหน้ากากที่ใช้ซ้ำได้เป็นประจำ ส่วนหน้ากากที่ต้องใช้แล้วทิ้งก็ควรทิ้งให้ถูกต้องตามกิจลักษณะเพื่อความปลอดภัยสูงสุด
ที่มา: thelancet, businessinsider, bgr
Advertisement
0 Comments