โดยปกติแล้วเรื่องของคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นบนโลกของเรา จะมีวิธีในการจัดการที่ถูกระบุอย่างชัดเจนไว้ในข้อกฎหมายของแต่ละประเทศ
แต่ถ้าหากว่ามันดันไปเกิดขึ้น ‘นอกโลก’ ล่ะ? จะทำอย่างไร? ซึ่งขณะนี้ NASA กำลังเผชิญกับการสืบสวนคดีอาชญากรรม ที่เกิดขึ้นบน ‘อวกาศ’ เป็นครั้งแรก
เรื่องของเรื่องคือ Anne McClain นักบินอวกาศ ถูกกล่าวหาว่า ‘พยายามที่จะเข้าถึงข้อมูลในบัญชีธนาคารของอดีตคู่สมรส’ ระหว่างประจำอยู่ที่สถานีอวกาศ International Space Station (ISS)
จากรายงานของ New York Times ระบุเอาไว้ว่าเจ้าหน้าที่ McClain ถูกส่งขึ้นไปปฏิบัติภารกิจของ NASA เป็นระยะเวลานานถึง 6 เดือน
จนกระทั่งเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น Rusty Hardin ทนายความของ McClain ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “ขอปฏิเสธข้อกล่าวหา เพราะเธอไม่ได้ทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง”
“ในวันเกิดเหตุ McClain แค่เข้าไปเช็กดูเงินในบัญชี ว่ามีเงินพอจ่ายค่าใช้จ่ายหรือไม่ ซึ่งเป็นบัญชีที่เธอเคยเปิดไว้กับอดีตคู่สมรสเพื่อนำเงินไปเลี้ยงดูลูก”
“McClain เข้ารหัสบัญชีด้วยพาสเวิร์ดเดิม และไม่เคยได้ยินมาก่อนว่าอดีตคู่สมรสของเธอได้ทำการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขบัญชี ห้ามไม่ให้เธอใช้งานไปแล้ว”
ขณะนี้ McClain กลับมายังพื้นโลกแล้ว และให้ความร่วมมือในการสืบสวนอย่างเต็มที่ เพราะเธอเชื่อว่าตัวเธอเองไม่ได้ทำผิดแต่อย่างใด
เอาล่ะครับเรามาทำความเข้าใจเรื่องของกลไกทางกฎหมายที่เกิดขึ้นบนอวกาศกันสักหน่อย
ณ ตอนนี้มีประเทศทั้งหมด 5 ประเทศ ที่มีส่วนร่วมในการใช้งานสถานีอวกาศ (ISS) ประกอบไปด้วย สหรัฐฯ, แคนาดา, ญี่ปุ่น, รัสเซีย, และตัวแทนจาก EU
และกรอบของกฎหมายจะขึ้นอยู่กับว่าตัวแทนของประเทศไหนที่ก่อเหตุอาชญากรรม ก็จะต้องใช้กฎหมายของประเทศนั้นครับ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้านักบินอวกาศชาวแคนาดาถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมบนอวกาศ ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายของแคนาดา หรือถ้าเป็นชาวรัสเซีย ก็จะต้องถูกดำเนินตามกฎหมายของรัสเซีย เป็นต้น
ที่มา : bbc, newyorktimes
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น