CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

พบ “มังกรเยือกแข็งแห่งลมเหนือ” เทอโรซอร์ยักษ์พันธุ์ใหม่ ที่เคยครองน่านฟ้าแห่งแคนาดา

ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบล้านปีก่อน เหนือผืนแผ่นดินที่จะกลายมาเป็นประเทศแคนาดาในปัจจุบัน ยังมีสัตว์เลื้อยคลานบินได้ขนาดใหญ่ ครอบครองน่านฟ้าด้วยขนาดตัวที่ใหญ่พอๆ กับเครื่องบิน

 

 

และแล้วเมื่อกาลเวลาผ่านไปหลายยุคหลายสมัย เมื่อล่าสุดนี้เองเจ้าเทอโรซอร์ตัวนี้ก็กลับมาเป็นที่รู้จักของผู้คนอีกครั้ง ภายใต้ชื่อสุดเท่ว่า “Cryodrakon boreas” หรือ “มังกรเยือกแข็งแห่งลมเหนือ”

อ้างอิงจากทีมนักวิทยาศาสตร์ ฟอสซิลของ Cryodrakon boreas ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อราวหนึ่งทศวรรษที่แล้ว โดยมันเป็นเทอโรซอร์ขนาดใหญ่ในกลุ่มอัซห์ดาร์คิด ที่ในช่วงแรกๆ ที่มีการค้นพบ มันถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอัซห์ดาร์คิดในกลุ่ม Quetzalcoatlus ซึ่งพบได้ในอเมริกาเหนืออีกที

 

ภาพจำลองของ Cryodrakon boreas ซึ่งมีการสมมุติว่าเทอโรซอร์ตัวนี้มีสีแดง-ขาว

 

นับว่าเป็นโชคดีของมังกรเยือกแข็งตัวนี้มากที่หลังจากการค้นพบครั้งแรก ทีมนักสำรวจก็ได้มีโอกาสค้นพบฟอสซิลของมันเพิ่มเติมอีกหลายครั้งทำให้นักวิทยาศาสตร์ทราบว่าเทอโรซอร์ตัวนี้จริงๆ แล้วเป็นเทอโรซอร์สายพันธุ์ใหม่ และเป็นเทอโรซอร์ขนาดใหญ่สายพันธุ์ใหม่สายพันธุ์แรก ที่ถูกพบในแคนาดาเลยด้วย

เจ้า Cryodrakon boreas นั้น เชื่อกันว่าเคยมีชีวิตอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียสตอนต้น ราวๆ 77-74 ล้านปีก่อน และมีจุดเด่นสำคัญๆ อยู่ที่มีความกว้างของปีกที่ใหญ่โตถึง 10 เมตร และมีกระดูกขนาดใหญ่โตอย่างไม่น่าเชื่อตามลักษณะของอัซห์ดาร์คิด เช่นกระดูกส่วนคอของมันซึ่งมีขนาดความกว้างถึง 18 เซนติเมตร

 

 

แต่แม้ว่ากระดูกของเจ้าเทอโรซอร์ตัวนี้จะใหญ่โตมากก็ตาม ตามปกติแล้วกระดูกของเทอโรซอร์จะเป็นอะไรที่ถูกค้นพบได้ยากมาก เนื่องจากที่อยู่อาศัยของพวกมันจะอยู่บนบกเป็นหลักซึ่งทำให้ฟอสซิลของพวกมันมักจะถูกย่อยสลายตามยุคสมัยได้ไว เมื่อเทียบกับไดโนเสาร์สายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ริมน้ำหรือริมทะเล

ด้วยเหตุนี้เองการค้นพบฟอสซิลของ Cryodrakon boreas จึงนับว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มากๆ ครั้งหนึ่งของนักสำรวจเลยก็ว่าได้ เพราะการพบฟอสซิลโครงกระดูกสัตว์โบราณที่มากพอจะชี้ว่ามันเป็นอัซห์ดาร์คิดสายพันธุ์ใหม่เช่นนี้ มันไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เลยนั่นเอง

 

ที่มา livescience, nbcnews และ gizmodo


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น