CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

นักสำรวจทะเลพบ “หมึกลูกหมู” น่ารักสุดๆ ใต้น้ำลึก 1,385 เมตร ทางตอนใต้ของฮาวาย

ในระหว่างที่ทีมสำรวจทางทะเลซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร “Ocean Exploration Trust” ออกทำการสำรวจพื้นที่ทะเลมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนใต้ของฮาวาย พวกเขาก็ได้มีโอกาสพบกับสิ่งมีชีวิตตัวป้อมๆ น่ารักตัวหนึ่ง

 

 

เจ้าสิ่งมีชีวิตตัวนี้ถูกพบโดยยานสำรวจแบบบังคับจากระยะไกล “Nautilus” ลึกลงไปใต้ทะเลราวๆ 1,385 เมตร และสร้างความแปลกใจให้แก่ทีมสำรวจเป็นอย่างมาก อ้างอิงจากเสียงพูดที่ถูกบันทึกไว้ว่า “นายมันตัวอะไรกัน” และ “ฉันไม่เคยเห็นตัวอะไรแบบนี้มาก่อนเลย”

ในเบื้องต้นแล้วทีมสำรวจได้ทำการคาดเดาว่าสิ่งมีชีวิตที่พวกเขาพบนั้นน่าจะเป็นหมึกชนิดหนึ่ง ซึ่งก็นับว่าไม่ผิดไปจากความจริงมากนัก เพราะในภายหลังเมื่อนำลักษณะของหมึกตัวนี้ไปตรวจสอบ ทีมสำรวจก็พบว่าสิ่งที่พวกเขาพบนั้นน่าจะเป็น “Piglet Squid” หรือ “หมึกลูกหมู” นั่นเอง

 

 

หมึกลูกหมูนั้นเป็นสัตว์ทะเลจำพวกเซฟาโลพอด (กลุ่มเดียวกับหมึกส่วนมาก) โดยมีสกุลชื่อ Helicocranchia และมีลักษณะเด่นอยู่ที่อวัยวะส่วนหัวของมันซึ่งมีลักษณะคล้ายจมูกหมูและเป็นที่มาของชื่อหมึกลูกหมูอีกที

 

วิดีโอการพบหมึกลูกหมูจากช่อง EVNautilus

 

จากคำบอกเล่าของผู้เชี่ยวชาญหมึกลูกหมูนั้นมีอัตราส่วนของร่างกายที่ค่อนข้างแปลกเมื่อเทียบกับหมึกชนิดอื่นๆ แต่มันก็เป็นอัตราส่วนของร่างกายที่เหมาะสมเป็นอย่างมากกับระบบการเคลื่อนไหวของหมึกลูกหมูเองเป็นอย่างดี

นั่นเพราะหมึกลูกหมูจะอาศัยแอมโมเนียในตัวของมันเพื่อควบคุมการลอยตัว และเคลื่อนที่ด้วยการพุ่งด้วยระบบปั๊มเจ็ท ดังนั้นการที่มันมีตัวเหมือนลูกโป่งจึงทำให้การลอยตัวของมันสามารถควบคุมได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย

 

 

ทั้งนี้เอง เป้าหมายของ Nautilus นั้น เดิมทีแล้วจะเป็นการสำรวจระบบนิเวศน้ำลึกในพื้นที่อนุสรณ์สถานทางทะเลแห่งชาติ ใกล้ๆ เกาะแพลไมราอะทอลล์ ซึ่งเป็นหนึ่งในดินแดนที่ที่ห่างไกลที่สุดซึ่งอยู่ในการควบคุมของสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาจะมีการรายงานการค้นพบสัตว์รูปร่างแปลกๆ อยู่เป็นพักๆ

อย่างไรก็ตามการค้นพบหมึกลูกหมูสุดน่ารักในครั้งนี้ก็นับว่าเรียกรอยยิ้มให้แก่ผู้พบเห็นได้เป็นอย่างดีเลย

 

ยานสำรวจแบบบังคับจากระยะไกล “Nautilus”

 

ที่มา dailymail, livescience


Posted

in

,

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น