เมื่อพูดถึงสัตว์อย่างตั๊กแตน สำหรับหลายๆ คน มันอาจจะเป็นศัตรูพืชตัวฉกาจ ในขณะที่อีกหลายๆ คนอาจจะนึกถึงตั๊กแตน ทอดแสนอร่อยขึ้นมาแทน แต่ไม่ว่าคุณจะนึกถึงอะไร เชื่อว่าคงมีคนไม่มากหรอกที่หากได้ยินชื่อตั๊กแตน แล้วจะนึกถึง “ไซบอร์กสำหรับหาระเบิด”
แต่เรื่องราวแปลกๆ นี้ก็อาจจะเกิดขึ้นจริงๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ก็ได้ เพราะเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมานี้เอง ในวารสาร Biorxiv นักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา ได้มีการออกมาเปิดเผยว่า
พวกเขากำลังทำการทดลอง “ดัดแปลง” ตั๊กแตนที่สุดแสนจะธรรมดา ให้มีความสามารถในการตรวจจับก๊าซที่ปล่อยออกมาจากสารเช่นแอมโมเนียมไนเตรต ซึ่งตามปกติมักถูกนำไปใช้ในการทำระเบิดอย่าง TNT หรือ RDX ได้
งานวิจัยในครั้งนี้ ถูกจัดทำขึ้นด้วยเงินทุนจากทางกองทัพเรือสหรัฐฯ และเกี่ยวข้องกับการอาศัยระบบการดมกลิ่นของตั๊กแตน โดยเฉพาะกลุ่มเซลล์ประสาทรับกลิ่นร่วม 50,000 เซลล์บนหนวดของมันให้เป็นประโยชน์
โดยในการทดลองครั้งนี้ นักวิจัยได้ค้นพบว่าตั๊กแตนจะสามารถแยกแยะกลิ่นของสารที่มันพบได้ภายในเวลาเพียง 500 มิลลิวินาทีเท่านั้น โดยผลการแยกแยะดังกล่าวจะออกมาในลักษณะของรูปแบบของกิจกรรมที่มองเห็นได้ชัดเจนในระบบประสาทของมันอีกที
ดังนั้น นักวิจัยจึงได้ทำการดัดแปลงตั๊กแตนที่พวกเขามีเป็นไซบอร์กสำหรับหาระเบิด โดยพวกเขาได้ติดตั้งติดตั้งอุปกรณ์ขนาดเล็ก ที่จะทำให้มนุษย์ควบคุมตั๊กแตนได้ พร้อมๆ กับอุปกรณ์อ่านค่าของระบบประสาทที่กล่าวมาข้างต้นลงบนตัวของตั๊กแตนเสียเลย
เมื่อนำตั๊กแตนดังกล่าวไปทดลอง นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่าพวกมันสามารถทำงานได้อย่างเป็นที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้คุณ Baranidharan Raman รองศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน หัวหน้าทีมทดลอง เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่านี่จะเป็นผลงานที่ทำให้พวกเขาได้รับงบประมาณส่งเสริมเพิ่มเติมในอนาคตนี้แน่
และก็ไม่แน่เหมือนกันว่าในอนาคตอันใกล้นี้เราอาจจะได้เห็นหน่วยกู้ระเบิด เปลี่ยนไปใช้ตั๊กแตนแทนที่จะเป็น สุนัขดมกลิ่นอย่างที่เคยก็เป็นได้
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น