เพื่อนๆ เคยได้ยินเรื่องราวของสัตว์ทะเลน้ำลึกชื่อ “หอยทากเท้ามีเกล็ด” หรือ “Chrysomallon squamiferum” กันไหม? นี่คือหอยทากชนิดหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ ปล่องน้ำร้อนใต้ทะเล และมีจุดเด่นอยู่ที่เปลือกบนเท้าของมัน
ด้วยความที่หอยเหล่านี้อาศัยอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง และมีสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายมันจึงทำการวิวัฒนาการเปลือกบนเท้าของตัวเองจนมีสภาพเป็นเปลือกเหล็กที่เรียงกันเป็นชั้นๆ คล้ายชุดเกราะไม่มีผิด
ด้วยลักษณะความคงทนนี้เองทำให้พวกมันสามารถเอาชีวิตรอดได้จากไม่เพียงปล่องน้ำร้อนใต้ทะเล แต่ยังช่วยปกป้องพวกมันจากนักล่าอื่นๆ ด้วย ถึงอย่างนั้นเจ้าหอยเหล่านี้กลับต้องพบกับการคุกคามครั้งใหม่ที่มันไม่เคยพบมาก่อนจนได้ แถมการคุกคามครั้งนี้ยังส่งผลรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเลยด้วย
นั่นเพราะเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมาทางสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้มีการออกมาระบุให้เจ้าหอยทากเท้ามีเกล็ด จัดเป็นสัตว์ชนิดแรกของโลกที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการ “ทำเหมืองในทะเลลึก”
หนึ่งในเครื่องจักรที่ใช้ในการทำเหมืองในทะเลลึก
นี่นับเป็นผลกระทบอีกอย่างหนึ่งของการกระทำของมนุษย์ที่สร้างความสนใจให้กับเหล่านักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะด้วยลักษณะการทำงานของการขุดเหมืองในทะเลลึก เครื่องมือเหล่านี้จึงมักจะมีความเกี่ยวข้องกับปล่องน้ำร้อนใต้ทะเล ซึ่งทำให้มันไปเกี่ยวพันกับการใช้ชีวิตของหอยทากเท้ามีเกล็ดบ่อยๆ ตามไปด้วย
ปล่องน้ำร้อนใต้ทะเล ที่อยู่อาศัยของหอยทากเท้ามีเกล็ด
และแม้ว่าหอยทากพวกนี้จะทนต่อความร้อนสูงได้ แต่พวกมันก็ใช่ว่าจะสามารถทนทานต่อการเข้ามารบกวนของเครื่องจักรได้ ดังนั้นบ่อยครั้งที่การทำเหมืองเกิดขึ้น หอยทากเท้ามีเกล็ดจึงมักต้องหนีออกจากที่อยู่ดั้งเดิม หรือตายไปอย่างช่วยไม่ได้
นี่นับเป็นข่าวที่น่ากลัวมากๆ สำหรับหอยทากน้ำลึกตัวนี้ เพราะต่อให้มันหนีจากที่อยู่เดิมมาได้ พวกมันก็ใช่ว่าจะสามารถหาที่อยู่อาศัยใหม่ได้ทันที แถมเมื่อล่าสุดนี้เอง ปล่องน้ำร้อนใต้ทะเลอันเป็นที่อยู่สำคัญของมันอีกอย่างน้อยๆ 2 ที่ในมหาสมุทรอินเดียก็ถูกอนุมัติให้มีการทำเหมืองในทะเลลึกแล้วด้วย
ด้วยเหตุนี้เองในปัจจุบันจึงมีนักอนุรักษ์ธรรมชาติหลายๆ ฝ่ายออกมาเรียกร้องให้เรามีการตั้งกฎเกณฑ์อะไรสักอย่างเพื่อควบคุมการทำเหมืองในทะเลลึก และปกป้องถิ่นที่อยู่ของหอยทากเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นในอนาคตอันใกล้ เราก็อาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นสิ่งมีชีวิตที่ตัวเป็นเกราะเหล่านี้อีกต่อไปแล้วก็ได้
ที่มา livescience, smithsonianmag
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น