CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

พบ “Dineobellator” แร็ปเตอร์พันธุ์ใหม่เมื่อ 70 ล้านปีก่อน ล่าเก่งราวกับ “ชีตาห์แห่งโลกไดโนเสาร์”

หากเราพูดถึงสัตว์นักล่าที่มีจุดเด่นเรื่องความเร็ว เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะมีภาพนักล่าในใจที่แตกต่างกันไป โดยหากกล่าวถึงนักล่าในปัจจุบันหลายๆ คนคงจะคิดถึงเสือชีตาห์ แต่หากกล่าวถึงในยุคไดโนเสาร์เราก็คงจะนึกถึงแร็ปเตอร์ขึ้นมาก่อน เพราะแม้พวกมันจะไม่ได้ตัวใหญ่อย่างทีเร็กซ์ แต่แร็ปเตอร์ก็ได้ชื่อว่าเป็นยอดนักล่าตัวหนึ่งแห่งยุคนี้เลย

และเมื่อล่าสุดนี้เอง ที่รัฐนิวเม็กซิโก  ของประเทศสหรัฐอเมริกาก็กำลังมีแร็ปเตอร์สายพันธุ์ ใหม่สายพันธุ์หนึ่งที่กำลังเป็นที่พูดถึงเป็นอย่างมากอยู่ ด้วยความสามารถการล่าเป็นฝูงด้วยความเร็วอันน่าหวาดกลัวแม้จะมีขนาดตัวที่เล็กของมัน

 

 

ไดโนเสาร์ที่กล่าวมานี้ มีนามว่า “Dineobellator notohesperus” โดยมันเป็นไดโนเสาร์แร็ปเตอร์ที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 68-70 ล้านปีก่อน และมีจุดเด่นสำคัญอยู่ที่ความขนาดความยาวตัวเพียง 2 เมตร และสูงแค่ราวๆ 1 เมตรเท่านั้น

เจ้าไดโนเสาร์กลุ่มนี้ แท้จริงแล้วถูกค้นพบมาตั้งแต่ในปี 2008 ในสภาพของชิ้นส่วนฟอสซิลที่แยกกัน 20 ชิ้น เพียงแต่ในเวลานั้น มันกลับถูกเข้าใจผิดว่าเป็นแร็ปเตอร์ขนาดกลางสายพันธุ์อื่น และกว่าที่มันจะถูกระบุว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่จริงๆ มันก็เมื่อไม่นานมานี้ด้วยซ้ำ

 

 

อ้างอิงจากลักษณะของฟอสซิลที่ได้รับการค้นพบ นักบรรพชีวินก็คาดการเอาไว้ว่าในอดีต Dineobellator notohesperus นั้น น่าจะทั้งเร็วและแข็งแรงกว่าแร็ปเตอร์สายพันธุ์ใกล้เคียงอย่างเวโลซีแรปเตอร์ที่โผลมาในภาพยนตร์ Jurassic Park เสียอีก

โดยมันมีลักษณะของอาวุธประจำตัวอย่าง มือ กรงเล็บเท้า หาง หรือแม้แต่กล้ามเนื้อและเอ็นที่แข็งแรง เป็นหลักฐานว่าพวกมันมีกำลังในการจับเหยื่อที่สูงมากในบรรดาไดโนเสาร์กลุ่มโดรมีโอซอริด (dromaeosaurids)

เป็นไปได้ว่าในอดีตไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้อาจมีการล่าเหยื่อที่คล้ายกับเสือชีตาห์เป็นอย่างมาก กล่าวคือเป็นการล่าโดยอาศัยการไล่กวดด้วยความเร็ว จากกล้ามเนื้อขาและน่อง เพียงแต่มีจุดที่ต่างกันใหญ่ๆ ตรงที่ไดโนเสาร์เหล่านี้น่าสามารถจะเลี้ยวหรือเปลี่ยนทิศทางการวิ่งได้ดีกว่ามากจากรูปร่างของหางที่มันมี

 

 

เท่านั้นยังมีพอ ด้วยความที่ว่ามันเป็นไดโนเสาร์แร็ปเตอร์ Dineobellator notohesperus ยังมีความเป็นไปได้สูงที่จะถนัดการล่าเป็นกลุ่มเป็นอย่างมากด้วย ซึ่งเมื่อรวมกับความสามารถอื่นๆ ที่กล่าวมาก่อนหน้านี้แล้วก็ทำให้ไม่แปลกเลยที่พวกมันจะล่าสัตว์ที่ตัวใหญ่กว่าหลายเท่า

อย่างไรก็ตามต่อให้เป็นยอดนักล่ามาจากไหนมันก็ไม่ได้หมายความว่า Dineobellator notohesperus  จะพลาดไม่เป็นเลยเช่นกัน เพราะบนตัวของไดโนเสาร์ตัวนี้มีทั้งรอยแผลที่กะโหลกศีรษะ ลำตัว และซี่โครง ซึ่งแทบทั้งหมดเป็นรอยการถูกแทงหรือเกี่ยวควัก ที่อาจเกิดขึ้นตอนออกล่า หรือต่อสู้กับแร็ปเตอร์ตัวอื่นๆ ในระหว่างการหาคู่ก็เป็นได้

 

ที่มา nature, sciencealert และ gizmodo

Comments

ใส่ความเห็น