ย้อนกลับไปเล็กน้อย เมื่อวันที่ 22 กันยายน บนน่านฟ้าทางตอนเหนือของเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ระบบเครือข่ายอุกกาบาตโลก (Global Meteor Network) ได้ตรวจพบอุกกาบาตขนาดเล็กลูกหนึ่งกำลังพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก
แต่แทนที่เจ้าอุกกาบาตลูกนี้ จะถูกเผาไหม้ไปหมดก่อนที่จะถึงพื้นตามปกติ มันกลับกระทบกับชั้นบรรยากาศและ “เด้ง” กลับไปในอวกาศราวกับก้อนหินกระทบผิวน้ำ และเรื่องทั้งหมดก็ถูกจับภาพไว้แบบพอดิบพอดีเลยด้วย
อ้างอิงจาก องค์การอวกาศยุโรป ปรากฏการณ์ในครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Earth-grazing fireball” โดยมันเกิดขึ้นจากการที่อุกกาบาตเข้าสู่บรรยากาศในมุมตื้น ทำให้อุกกาบาตสามารถเลี่ยงแรงดึงดูดกลับสู่อวกาศไปได้
และเป็นปรากฏการณ์ที่แม้จะพบได้ค่อนข้างยาก แต่ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
ในกรณีของอุกกาบาตในครั้งนี้มันได้เข้าใกล้โลกในระดับความสูงเพียงแค่ 91 กิโลเมตรจากพื้นดินเท่านั้น ทำให้ตัวอุกกาบาตลุกเป็นลูกไฟซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วราวๆ 34 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอยู่ช่วงหนึ่ง
ซึ่งหากสังเกตให้ดีมันจะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเลย
แน่นอนว่าด้วยขนาดของอุกกาบาตลูกนี้ ต่อให้มันไม่เด้งกลับไปในอวกาศ มันก็มีความเป็นไปได้สูงที่มันจะเผาไหม้ไปหมดก่อนที่จะลงมาสู่พื้นอยู่ดี
แต่อย่างไรก็ตาม Earth-grazing fireball ก็ใช่ว่าจะไม่มีอันตรายเลย
นั่นเพราะเหตุการณ์ “การระเบิดที่ตุงกุสคา” ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1908 และสร้างความเสียหายแก่ป่าเป็นระยะกว่า 2,150 เองก็ถูกเชื่อกันว่าเกิดจากลูกไฟในรูปแบบนี้เช่นกัน
(อ่านเรื่องราวของการระเบิดที่ตุงกุสคาได้ที่ นักวิทย์ตั้งทฤษฎีแปลก “อุกกาบาตปลิวกลับไปในอวกาศ” ไขปริศนาการระเบิดเมื่อ 112 ปีก่อน)
ดังนั้น แม้ว่าอุกกาบาตในครั้งนี้อาจจะปลอดภัย และออกมาสวยงามเจริญตา มันก็คงจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า หากเหตุการณ์นี้ยังคงเป็นเหตุการณ์หายาก ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ เช่นนี้ต่อไป
ที่มา iflscience และ futurism
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น