ด้วยความที่ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ล้วนแต่จะมีการโคจรรอบดวงอาทิตย์ มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกนัก ที่หลายๆ คนจะคิดว่าดาวเคราะห์ส่วนใหญ่ จะมีโคจรเป็นวงกลมรอบๆ อะไรบางอย่าง
แต่ดูเหมือนว่าแนวคิดนี้ก็อาจจะไม่ถูกต้องเท่าไหร่นักก็ได้ เพราะในอดีต นักวิทยาศาสตร์ก็เคยออกมาเปิดเผยว่าในอวกาศของเรานั้น แท้จริงแล้วอาจมีดวงดาวอีกมากเลยที่ไม่ได้โคจรรอบดาวฤกษ์

และเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมานี้เอง เราก็พบดาวเคราะห์ในรูปแบบนี้ดวงหนึ่ง ที่มีขนาดพอๆ กับโลก เป็นครั้งแรกเลยด้วย
โดยดาวเคราะห์ที่ถูกพบในครั้งนี้ มีชื่อว่า OGLE-2016-BLG-1928 โดยมันเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากโลกไปราวๆ 27,000 ปีแสง
มันถูกค้นพบด้วย การสำรวจเลนส์ความโน้มถ่วงเชิงแสง (Optical Gravitational Lensing Experiment) ของมหาวิทยาลัยวอร์ซอ
และแม้ว่ามันจะไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ แต่ด้วยขนาดของดาวที่อาจใหญ่ ตั้งแต่ 1 ถึง 1.5 เท่าของโลก ดาวดวงนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นดาวเคราะห์ที่ไม่มีดาวฤกษ์ที่เล็กที่สุดที่เราเคยพบมาเลย

อ้างอิงจากสำนักข่าวต่างประเทศ ดาวเคราะห์ที่ไม่โคจรรอบดาวฤกษ์นั้น มีชื่อเรียกแบบเท่ๆ ว่า “ดาวเคราะห์โรก” (Rogue planets) หรือ ดาวเคราะห์อิสระ
ซึ่งตามปกติดาวเคราะห์เหล่านี้ จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ตั้งแต่ 2-40 เท่าของดาวพฤหัสบดี (ซึ่งใหญ่พอๆ กับโลก 300 ดวง) ดังนั้นการค้นพบดาวเล็กๆ แบบนี้ก็ถือว่าเป็นอะไรที่สำคัญมาก
“โอกาสในการตรวจจับวัตถุมวลต่ำแบบนี้ ถือว่าต่ำมากๆ เลย” คุณ Przemek Mroz นักวิชาการ จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย นักเขียนหลักของงานวิจัยกล่าว
“การค้นพบนี้บอกให้เรารู้ว่าเรานั้นอาจจะโชคดีมากๆ หรือไม่ก็วัตถุเช่นนี้จริงๆ แล้วอาจพบได้ทั่วไปในทางช้างเผือก และเป็นอะไรที่ธรรมดากว่าที่เราคิด”
หากเป็นไปตามแนวคิดอย่างหลัง นักวิทยาศาสตร์ก็ระบุว่ามันจะไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ที่ในทางช้างเผือกจะมีดาวในรูปแบบนี้อยู่อีกเป็นพันล้านหรือล้านล้านดวง
เพียงแต่ด้วยความที่ดาวพวกนี้ไม่ส่องแสง พวกเขาจึงไม่สามารถสังเกตเห็นมันได้ง่ายๆ เหมือนดาวดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ตามปกติก็เท่านั้น
และการศึกษาดาวเคราะห์ชุดใหม่นี้ ก็อาจจะช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจกับจักรวาลอันกว้างใหญ่ของเราได้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลยด้วย
ที่มา sciencealert, foxcarolina และ livescience
Advertisement