CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

ร่วมตามรอยสมองของ “ไอน์สไตน์” เกิดอะไรขึ้น หลังยอดอัจฉริยะลาโลกใบนี้ไป

มันเป็นเรื่องที่เราทราบกันว่า “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” นั้น เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของโลก ดังนั้น ในตอนที่เขาจากโลกไปในปี 1955 เชื่อว่าคงจะมีหลายคนไม่น้อย ที่รู้สึกเสียดายกับการเสียมันสมองของเขานี้ไป

แต่ทราบกันหรือไม่ว่าในเวลาเพียงแค่ ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ไอน์สไตน์ เสียชีวิตไป “สมอง” ของเขา ก็ได้ถูกนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งขโมยไปด้วย แม้ไอน์สไตน์จะเคยบอกว่าไม่ต้องการให้ศพของตนเองถูกตรวจสอบก็ตาม

 

 

ชายผู้ขโมยสมองของไอน์สไตน์ไปนั้น คือนักพยาธิวิทยาที่มีชื่อว่า โทมัส ฮาร์วีย์

ผู้ระบุในภายหลังว่าตัดสินใจขโมยสมองของยอดอัจฉริยะไปเพื่อทำการตรวจสอบหาสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความฉลาดของชายคนนี้และเขาก็ทำมันไป โดยในตอนแรกเขายังไม่ได้ขออนุญาตทางครอบครัวไอน์สไตน์

แต่ต่อมาฮานส์ ไอน์สไตน์ ลูกชายคนโตของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ก็อนุญาตให้เขาสมองไปวิจัยได้โดยมีเงื่อนไขว่าเพื่อเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น

 

โทมัส ฮาร์วีย์กับสมองของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ในปี 1955

 

โดยหลังจากที่ได้สมองของไอน์สไตน์มา สิ่งแรกที่โทมัสทำก็คือการชั่งน้ำหนักสมอง ซึ่งได้ผลลัพธ์ออกมาที่ 1230 กรัม ก่อนที่จะฉีดฟอร์มาลินเพื่อป้องกันสมองเน่า

และตัดแบ่งสมองออกเป็น 240 ส่วน ในเวลาต่อมา เพื่อนำสมองที่มีไปเก็บและมอบตัวอย่างบางส่วนแก่แพทย์ที่รู้จัก

โทมัสพยายามศึกษาสมองของไอน์สไตน์อยู่เป็นเวลานานหลังจากนั้น แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่หวังไว้ กลับกันการครอบครองสมองของไอน์สไตน์ก็แทบจะเรียกว่าทำให้ชีวิตของเขาต้องพังเลยด้วยซ้ำ

 

สมองของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ในปี 1955

 

นั่นเพราะเขาไม่เพียงแต่จะโดนไล่ออกจากโรงพยาบาลที่เคยทำงานอยู่เนื่องจากไม่ยอมคืนสมองของไอน์สไตน์เท่านั้น

แต่เขายังต้องตกงาน มีเรื่องทะเลาะกับภรรยา ต้องเดินทางย้ายที่ทำงานบ่อยครั้ง จนเพนจรไปทั่วโลก แถมยังเสียใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหมอ

ในขณะที่การศึกษาสมองของไอน์สไตน์ของเขา กลับไม่ได้รับผลตอบรับที่ดี เนื่องจากงานวิจัยส่วนใหญ่ของเขาถูกมองว่ามีอคติ พยายามบอกว่าสมองของไอน์สไตน์ต่างจากคนปกติเกินไป

จนทำให้การวิจัยดังกล่าว ถูกลบล้าง และชี้จุดบกพร่องบ่อยครั้ง จนไม่ได้รับการยอมรับไปในที่สุด

 

โทมัส ฮาร์วีย์ในวัยชรากับสมองของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

 

นั่นทำให้ในท้ายที่สุดในตอนที่เขาอายุย่างเข้าวัย 84 โทมัสจึงได้พยายามคืนสมองของไอน์สไตน์แก่หลานสาวของเขา ซึ่งทั้งคู่พบกันโดยบังเอิญ แต่สุดท้ายแล้วหลานสาวของเขาก็ปฏิเสธที่จะรับสมองของไอน์สไตน์ไป

ทำให้ในที่สุดโทมัสก็ตัดสินใจคืนสมองส่วนที่เหลือของไอน์สไตน์ให้กับแพทย์ที่รู้จักในโรงพยาบาลที่รับศพไอน์สไตน์เป็นครั้งแรก ก่อนที่จะเสียชีวิตไปอย่างสงบในปี 2007 ด้วยวัย 94 ปี

แต่เรื่องราวของสมองที่ถูกขโมยไปนั้น ก็ยังคงมีต่ออยู่อีกนิด เพราะด้วยความที่สมองของไอน์สไตน์ถูกตัดแบ่งเป็นหลายส่วน ชิ้นส่วนหลายๆ ชิ้นจึงค่อยๆ กระจัดกระจายกันไป

 

 

ชิ้นส่วนหลายชิ้นก็ถูกนำไปศึกษาอีกบ่อยครั้ง แม้ส่วนใหญ่ล้วนแต่จะบอกว่าสมองของไอน์สไตน์มีความแตกต่างจากคนทั่วไป และถูกตีตราว่ามีความน่าเชื่อถือต่ำ

แต่ก็มีบางงานวิจัยเหมือนกันที่นำเสนอเรื่องที่น่าสนใจ เช่นไอน์สไตน์มีเซลล์ประสาทในฮิปโปแคมปัสด้านซ้ายใหญ่กว่าด้านขวาเป็นต้น

เรียกได้ว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ในท้ายที่สุดแล้วแม้ในปัจจุบันชิ้นส่วนสมองของไอน์สไตน์ก็จะยังคงเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นอย่างมากอยู่ดี

ซึ่งหากว่าเพื่อนๆ สนใจ หนึ่งในบรรดาชิ้นส่วนดังกล่าว 46 ชิ้นก็ถูกเก็บเอาไว้ที่พิพิธภัณฑ์โรคประหลาดมัตเตอร์ ที่ฟิลาเดลเฟีย และเปิดให้มีการเข้าชมได้อยู่เป็นพักๆ ด้วย

 

สมองบางส่วนของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ถูกเก็บไว้กับ พิพิธภัณฑ์โรคประหลาดมัตเตอร์

 

ที่มา npr, allthatsinteresting, medium และ mcall


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น