เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์ประเทศจีน ได้ออกมาประกาศการค้นพบสัตว์ปีกสายพันธุ์ใหม่ หลังจากที่พวกเขาพบส่วนเท้าของมันถูกฝังอยู่ในอำพันอายุร่วม 99 ล้านปีที่ประเทศพม่า
เจ้านกตัวนี้นับว่าเป็นหลักฐานโบราณชิ้นแรกของสัตว์ปีกโบราณซึ่งถูกค้นพบในอำพันเลยก็ว่าได้ ดังนั้นทีมวิจัยจึงถือโอกาสตั้งชื่อนกสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า “Elektorornis chenguangi” (Elektorornis แปลได้ว่า “นกอำพัน”)
อ้างอิงจากทีมนักวิจัย ส่วนเท้าของนกที่ถูกพบในครั้งนี้ เป็นของนกที่มีขนาดตัวใกล้เคียงกับนกกระจอก มีจุดเด่นอยู่ที่นิ้วเท้าหนึ่งในสี่นิ้วของมันมีความยาวกว่านิ้วอื่นถึง 41%
ความแปลกของส่วนเท้านี่เองที่ทำให้ในตอนที่อำพันนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 2014 นักวิจัยหลายๆ คนจึงเข้าใจผิดว่ามันเป็นส่วนเท้าของสัตว์ในตระกูลกิ้งก่าไป
เมื่อทำการเปรียบเทียบลักษณะ Elektorornis chenguangi เข้ากับนกตัวอื่นๆ กว่า 62 สายพันธุ์ในยุคเดียวกัน ทีมนักวิจัยก็พบว่า นี่เป็นนกเพียงสายพันธุ์เดียวที่มีลักษณะเท้าแบบนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าพวกมันน่าจะมีเอกลักษณ์ในการใช้ชีวิตพอสมควร
เป็นไปได้ว่าในอดีตนกตัวนี้น่าจะใช้ชีวิตอยู่บนต้นไม้มากกว่าบนพื้นหรือในน้ำเหมือนกับนกชนิดอื่นๆ ดังนั้นมันจึงวิวัฒนาการนิ้วเท้าบางนิ้วให้ยาวขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้มันเกาะต้นไม้ได้ง่ายขึ้นเหมือนที่กิ้งก่าบางชนิด แต่ยังสามารถนำไปใช้งานในการล่าเหยื่อ อย่างการจับตัวอ่อนแมลงที่อาศัยอยู่ในต้นไม้ได้ด้วย
ทั้งนี้เอง การที่นกตัวนี้มีลักษณะเท้าอันเป็นเอกลักษณ์นี้ยังทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า Elektorornis chenguangi อาจจะมีฟัน กรงเล็บบนปีก (คล้ายไดโนเสาร์) หรือลักษณะอื่นๆ ของนกยุคโบราณที่เก่ากว่าตัวมันเองอยู่อีกหลายอย่าง
ดังนั้นแล้วในปัจจุบัน ทีมนักวิจัยจึงได้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตพวกเขาจะมีโอกาสได้ตรวจสอบโปรตีนและเม็ดสีในขนของซากนกในอำพันต่อไป เพื่อที่พวกเขาจะสามารถเข้าใจการใช้ชีวิตและการปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ ของเจ้านกสุดแปลกตัวนี้ให้มากขึ้น แม้สักนิดก็ยังดี
ที่มา zmescience, sciencenews, theguardian และ cell
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น