หนุ่มวัย 21 ต้องปลูกถ่ายหัวใจ-ไต หลังดื่ม “เครื่องดื่มชูกำลัง” วันละ 2 ลิตร มานานกว่า 2 ปี!!


เชื่อว่าเพื่อนๆ แทบทุกคนน่าจะเคยได้ลองดื่ม ‘เครื่องดื่มชูกำลัง’ กันมาก่อน บางคนอาจจะชอบที่มันช่วยให้เรารู้สึกกระปรี้กระเปร่า บางคนก็อาจจะไม่ชอบในเรื่องของรสชาติ

แต่สำหรับชายคนนี้ คำว่าชอบยังอาจจะน้อยเกินไป เพราะเขาเล่นดื่มเครื่องดื่มชูกำลังมากถึงวันละ 2 ลิตร และทำอย่างนั้นทุกวัน ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี!!

 

แล้วบทสรุปของเรื่องนี้ก็ต้องไปจบที่โรงพยาบาล…

 

คนไข้หนุ่มวัย 21 ปี กลายเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ หลังจากที่เขาต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะมีอาการหายใจลำบาก เป็นอย่างนั้นอยู่นานกว่า 4 เดือน และน้ำหนักตัวก็ลดลงจากเดิมไปมาก

ไม่ใช่เพียงแค่นั้น เพราะก่อนหน้านี้ตัวเขาก็เคยมีอาการเนื้อตัวสั่น, ใจสั่น และอาหารไม่ย่อย แต่ทว่าในตอนนั้นเขากลับไม่ยอมไปปรึกษาแพทย์

 

และอาการทั้งหมดนี้ก็เป็นผลมาจากกิจวัตรประจำวันของเขาเอง

 

ชายหนุ่มเล่าว่า ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา เขาดื่มเครื่องดื่มชูกำลังทุกวัน วันละ 4 กระป๋อง (1 กระป๋อง = 500 มิลลิลิตร / 4 กระป๋อง = 2 ลิตร)

เขายังบอกด้วยว่า อาการป่วยต่างๆ ที่เคยเป็นมาข้างต้นนั้น ส่งผลให้ตัวเขาถึงกับต้องลาออกจากมหาวิทยาลัย เนื่องจากไม่สามารถมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการเรียนได้อีก…

“ตอนนั้นผมกลัวในสิ่งที่ตัวเองเป็นเอามากๆ บางครั้งผมไม่สามารถพูดหรือขยับได้ตามปกติ บ่อยครั้งที่ผมคิดไม่ออกว่าจะพูดอะไรออกมา และยังทำให้ผมมีอาการนอนไม่หลับอยู่บ่อยๆ กว่าจะหลับได้ก็คือเกือบเช้า

ทั้งหมดนั้นทำให้ความรู้สึกในแง่ลบของผมมันพลุ่งพล่าน ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวล รวมไปถึงอาการซึมเศร้า”

 

 

แพทย์ระบุว่า ตัวการสำคัญคือ “การรับปริมาณคาเฟอีนมากจนเกินไป” โดยปกติแล้ว เครื่องดื่มชูกำลังจะมีส่วนผสมของคาเฟอีนอยู่ที่ประมาณ 160 มิลลิกรัม นั่นเท่ากับว่าชายคนนี้รับคาเฟอีนไปมากถึงวันละ 640 มิลลิกรัม

ซึ่งตัวเลขนั้นถือว่าเกินจากระดับคาเฟอีนที่มนุษย์สามารถรับได้ต่อวันไปค่อนข้างมาก ในข้อมูลมีการระบุว่า มนุษย์จะสามารถรับคาเฟอีนเข้าไปได้สูงสุดเพียง 400 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น (กาแฟประมาณ 4-5 แก้ว)

 

 

จากสิ่งที่เขาเป็นทำให้คนไข้หนุ่มต้องเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจและไต เพื่อรักษาอาการดังกล่าว

ทั้งนี้จากรายงานก็มีการบันทึกเอาไว้ว่า หลังจากที่ได้รับยาและเลิกดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง อาการของคนไข้หนุ่มก็กลับมาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเขาก็ตั้งใจว่าจะไม่กลับไปดื่มมันอีกแล้ว…

“ผมคิดว่าเราควรกระตุ้นให้คนสนใจในเรื่องนี้ เพราะผลกระทบของมันร้ายแรงเอามากๆ ผมคิดไปว่าบางทีก็น่าจะมีป้ายกำกับติดเอาไว้ข้างกระป๋องเลยว่าผลกระทบร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้มีอะไรบ้าง เหมือนกับที่ติดเอาไว้บนซองบุหรี่”

 

อย่างไรก็ตาม อะไรที่มันมากเกินไป

ก็อาจส่งผลเสียต่อเราได้เหมือนกันนะฮะ

 

เรียบเรียงโดย #เหมียวตะปู

ที่มา: BMJ Journals , U.S. Food&Drug Administrarion

Advertisement


Like it? Share with your friends!

0 Comments