กลายเป็นอีกหนึ่งข่าวที่มีคนให้ความสนใจกันไปแล้ว เมื่อล่าสุดนี้เองได้มีนักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอคนหนึ่งออกมาอ้างว่า
เขาได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตที่คล้ายกับแมลงและสัตว์เลื้อยคลาน ภายในภาพถ่ายจากดาวอังคาร ของทางองค์การนาซา!?
อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักข่าวต่างประเทศ นักกีฏวิทยาเจ้าของคำกล่าวอ้างในครั้งนี้ คือคุณ William Romoser ศาสตราจารย์กิตติคุณของมหาวิทยาลัยผู้ซึ่งบอกว่าตัวเองให้ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาในการศึกษาภาพถ่ายพื้นผิวของดาวอังคาร ซึ่งรวมไปถึงภาพถ่ายจากยานสำรวจอวกาศ Curiosity ของนาซาด้วย
โดยในภาพเหล่านั้น เขาได้ค้นพบร่องรอยที่คล้ายกับ “สิ่งมีชีวิตที่มีรูปทรงแบบแมลงคล้ายผึ้ง และสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะบางส่วนที่คล้ายกับสัตว์เลื้อยคลาน” อยู่หลายครั้ง ทั้งในรูปแบบที่น่าจะยังมีชีวิต และในรูปแบบของฟอสซิล
“มันยังมีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารอยู่” คุณ Romoser กล่าวในบทความของเขา ในขณะที่ตัวบทความมีการลงรูปที่มีความคล้ายคลึงกับแมลงและงูเอาไว้หลายรูป
เขาระบุไว้ว่ามันมีความหลากหลายที่เห็นได้ชัดในบรรดาสัตว์คล้ายแมลงบนดาวอังคาร ซึ่งแสดงลักษณะหลายอย่างคล้ายกับแมลงกลุ่มขั้นสูงบนโลก เช่นการมีปีก หรือองค์ประกอบขา
อย่างไรก็ตาม ด้วยเนื้อหาที่ค่อนข้างสุดโต่งของบทความบวกกับภาพหลักฐานที่ค่อนข้างจะเบลอ คำกล่าวอ้างของคุณ Romoser จึงไม่อาจจะพูดได้ว่ามีน้ำหนักสำหรับนักวิทยาศาสตร์หลายๆ คน
นั่นเพราะแม้ว่าภาพตัวอย่างที่บทความของคุณ Romoser นำมานำเสนออาจจะมีความคล้ายคลึงกับแมลงอย่างที่เขาอ้างจริงๆ กรณีความเข้าใจผิดเช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งกับภาพถ่ายของยาน Curiosity และไม่ใช่หลักฐานที่มีน้ำหนักพอที่จะบอกว่าบนดาวอังคารมีสิ่งมีชีวิตอยู่จริงๆ
“ผมไม่คิดว่าจะมีแมลงบนดาวอังคาร” คุณ David Maddison ศาสตราจารย์ในภาควิชาชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยรัฐโอเรกอนกล่าว โดยเขาได้ให้เหตุผลสนับสนุนแนวคิดของเขาว่า สิ่งที่อยู่ในภาพเบลอๆ ที่ถูกนำมาอ้าง อาจจะสามารถเป็นอะไรก็ได้ แม้แต่ก้อนหินธรรมดาในผิวดาวอันกว้างใหญ่ก็ตาม
เช่นเดียวกับคุณ David นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์แห่งห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอสอาลามอสอย่างคุณ Nina Lanza เองก็มีการออกมาบอกว่าภาพถ่ายที่ไม่มีบริบทหรือแถบบอกสัดส่วนเช่นนี้ สามารถทำให้คนเรามองเห็นรุปร่างที่ไม่มีอยู่จริงได้ง่ายมาก ดังนั้นภาพที่คุณ Romoser นำออกมาอ้างจึงไม่ใช่อะไรที่น่าเชื่อถือเลย
กลับกันในกรณีที่มีคนพบสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารเข้าจริงๆ ภาพดังกล่าวก็อาจจะ “ทำให้การค้นพบจริงๆ ในเวลานั้น ไม่น่าตื่นเต้นอีกต่อไปก็เป็นได้”
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น