‘โรงพยาบาล’ คือสถานที่ที่ช่วยเยียวยาบาดแผลของพวกเรา เป็นสถานที่สาธารณะที่พร้อมจะช่วยเหลือทุกคนอย่างเท่าเทียม ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ และการทุ่มแรงกาย แรงใจของผู้ที่อยู่ในสายอาชีพนั้น
แต่แน่นอนว่าในบางครั้ง เจ้าหน้าที่จำนวนเพียงแค่หยิบมือก็อาจไม่เพียงพอต่อการให้บริการคนไข้จำนวนมหาศาลทุกๆ คนได้พร้อมกัน และนั่นจึงทำให้คนไข้บางคนอาจต้องรอต่อคิวตามลำดับ หรือตามความหนักเบาของอาการป่วย
ทว่าด้วยสถานการณ์ในลักษณะนั้นนั่นเองที่ส่งผลทำให้คนไข้บางกลุ่มรู้สึกร้อนใจ นำไปสู่การบันดาลโทสะด้วยคำต่อว่า หรือการใช้ความรุนแรง ดังเช่นเหตุการณ์นี้ขึ้น
คนไข้จำนวนมาก กับโรคระบาดในช่วงนี้
เรื่องที่เพื่อนๆ กำลังจะได้อ่านกันนี้ คือประสบการณ์จากผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อว่า Apichaya Sukprasert หนึ่งในเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง
เธอได้เล่าถึงหนึ่งใน ‘เหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุด’ ที่เกิดขึ้นภายในห้องฉุกเฉินที่เธอเองกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ และมันก็ได้บั่นทอนขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ทุกคนเป็นอย่างมาก
หญิงสาวเจ้าของเรื่องอธิบายก่อนว่า ในช่วงนี้โรค ‘ไข้ชิคุนกุนยา’ และ ‘ไข้เลือดออก’ นั้นกำลังระบาด ทำให้มีคนไข้จำนวนมากเข้ามาใช้บริการในแต่ละวันอยู่เรื่อยๆ
ช่วงก่อนเที่ยงคืนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 มีคนไข้เข้ามาใช้บริการ ณ ห้องฉุกเฉินมากถึงเกือบร้อยคน ในขณะที่ห้องฉุกเฉินดังกล่าวนั้นไม่เพียงพอที่จะรองรับคนจำนวนมากขนาดนั้นได้พร้อมๆ กันทีเดียว
“บุคลากรยังเท่าเดิม แต่ทำงานกันอย่างหนัก อ่อนเพลียเกินกำลัง” นั่นคือสิ่งที่เธอพูดถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนในเวลานั้น
ความร้อนใจของเหล่าคนไข้
เพื่อนๆ คงทราบดีอยู่แล้วว่าการใช้บริการห้องฉุกเฉินนั้นจะเรียงไปตาม ‘ความหนักเบา’ ของอาการป่วย ในขณะที่ผู้ป่วยระดับสีเขียวนั้น (คนไข้ไม่ด่วน) ก็จะรอต่อคิวตามลำดับก่อน-หลัง เพื่อความยุติธรรมของทุกฝ่าย
แต่ในขณะที่คนไข้อาการหนักกำลังรับการรักษาอยู่ภายในห้องนั้น เจ้าหน้าที่บางส่วนก็ได้แบ่งออกมาช่วยตรวจคนไข้สีเขียวภายนอกห้องบ้าง เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องรอนานจนเกินไป
ถึงอย่างนั้น คนไข้บางคนก็ยังรู้สึกไม่โอเค ไม่อาจอดทนรอได้ และเริ่มโวยวายขึ้นมา บางคนถึงขั้น ‘ขอแซงคิว’ ซึ่งนำไปสู่การข่มขู่เจ้าหน้าที่จนทำให้พวกเขาต้องยอมให้คนไข้คนนั้นแซงคิวเพื่อระงับความวุ่นวาย
“ทุกคนต่างรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างมาก” หญิงสาวเจ้าของเรื่องกล่าว
ช่วงเวลาหลังเที่ยงคืน กับสถานการณ์ที่ยิ่งเลวร้ายกว่าเดิม
เธอเล่าว่าตอนเที่ยงคืน เจ้าหน้าที่ได้ทำการเปลี่ยนเวรกัน แต่กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อมีเหตุ ‘ฆ่าปาดคอหมู่’ จนทำให้แพทย์เวรที่เพิ่งผลัดเปลี่ยนไปนั้นต้องลงมาช่วยโดยไม่ได้พัก
แม้เหล่าเจ้าหน้าที่จะพยายามช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่เพื่อหวังให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี แต่ถึงอย่างนั้นจำนวนแพทย์และพยาบาลก็ยังไม่เพียงพอต่อคนไข้
“อัตรากำลังพยาบาลนั้นไม่สามารถเพิ่มได้ แถมยังต้องแบ่งคนออกไปยังสถานที่เกิดเหตุต่างๆ ทำให้เหตุการณ์ยิ่งตึงเครียด” เธอกล่าว
เหมือนจะดีขึ้น แต่เรื่องยังไม่จบเพียงแค่นั้น
หลังจากที่ทางเจ้าหน้าที่ทุกคนได้พยายามกันอย่างหนัก ทำให้เหตุการณ์ดูเหมือนจะคลี่คลายและทุเลาลงไปบ้าง จนกระทั่งมี ‘ญาติคนไข้’ คนหนึ่งเกิดความรู้สึกไม่พอใจ
หญิงสาวเจ้าของเรื่องอธิบายว่าคนไข้รายนั้นมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว จึงกลับมาพบแพทย์ที่ตึกเดิม และที่มารักษาในครั้งนี้ก็เพราะว่ามีอาการป่วยอยู่หลายวัน
พอเมื่อต้องรอนาน แถมอาการป่วยก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ทำให้ญาติคนไข้รายดังกล่าวรู้สึกไม่พอใจ บันดาลโทสะ ‘ทุบประตูกระจก’ ของโรงพยาบาลจนแตกเป็นเสี่ยง บุกเข้าไปด่ากราดเจ้าหน้าที่ภายในห้อง
“ที่จริงข้างๆ ประตูนั้นมีป้ายแปะอยู่บนหน้าต่าง เขียนว่าสามารถเลื่อนเข้าออกเพื่อขอความช่วยเหลือได้” แต่ดูเหมือนว่าอารมณ์ที่ปะทุออกมานั้นอาจทำให้ผู้ก่อเหตุคนดังกล่าวมองข้ามป้ายนั้นไป
กระจกที่แตกเป็นรูโบ๋ ต่อมาเลยต้องเอาแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดมาปิดไว้ก่อน และในช่วงชุลมุนนั้น ‘อุปกรณ์การแพทย์’ บางอย่างก็หายไป ทำให้เจ้าหน้าที่ก็ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน
แม้จะหนักเพียงใด แต่เจ้าหน้าที่ยังคงทำงานต่อไปอย่างสุดความสามารถ
แม้จะเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น แต่ด้วยความที่อาการป่วยของคนไข้คนอื่นๆ กำลังอยู่ในภาวะตึงเครียด เจ้าหน้าที่แต่ละคนก็อ่อนล้าเต็มที จึงทำให้พวกเขาทำได้เพียงพยายามทำงานของตนกันต่อไป
พวกเขาพยายามประคับประคองทั้งคนไข้และเพื่อนร่วมงานให้ผ่านพ้นค่ำคืนนั้นไปด้วยกันได้สำเร็จ
ทว่าสิ่งที่ทำให้พวกเขารู้สึกเสียกำลังใจ และบั่นทอนแรงกาย แรงใจของทุกๆ ฝ่าย นั่นก็เพราะว่าจนถึงเช้าวันต่อมาก็ยังคง ‘ไม่มีคำขอโทษใดๆ’ ส่วนคำด่า และการประทุษร้ายหลายๆ อย่างก็ยังคงวนเวียนมาอยู่เรื่อยๆ
ความเห็นส่วนตัวของหนึ่งในเจ้าหน้าที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์
สำหรับความคิดเห็นของหญิงสาวเจ้าของเรื่องนั้น เธอมองว่าในปัจจุบัน ‘ผู้คนเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน’
ปัจจุบันผู้คนกลับเลือกที่จะระบายอารมณ์ออกมาใส่ผู้อื่น ซึ่งเธอมองว่าพวกเขาเหล่านั้นควรจะเริ่มจากการสอบถามกันก่อน หากเห็นว่ามันไม่ถูกต้องก็อาจร้องเรียนให้เป็นระบบ ‘เพื่อช่วยกันสร้างสังคมที่ดี’
“โรงพยาบาลเป็นของประชาชนทุกคน การรักษาเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน แต่เมื่อมีสิทธิ์ก็ย่อมต้องมีหน้าที่ตามมา เราใช้บริการก็ย่อมต้องช่วยกันรักษา ช่วยกันดูแลระบบนี้ให้แข็งแรงและอยู่รอดไปด้วยกัน” เธอกล่าว
โพสต์ต้นฉบับ
ในฐานะของคนไข้ ก่อนที่เราจะต่อว่าหรือบันดาลโทสะออกไป
เราต้องไม่ลืมที่จะนึกถึงใจของอีกฝ่าย ผู้ซึ่งพยายามอย่างหนัก เพื่อพวกเราด้วย
เรียบเรียงโดย #เหมียวตะปู
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น