Advertorial
ประเด็นของ “ค่าโง่ทางด่วน” และ “การต่อสัญญาสัมปทาน” ให้กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือรู้จักกันในชื่อ BEM เป็นระยะเวลา 30 ปี กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในสภาอย่างร้อนแรง
ถึงจุดนี้หลายคนอาจจะเกิดความสงสัยที่ว่า ค่าโง่ทางด่วนคืออะไร?? เรื่องของสัญญาสัมปทานนั้นคืออะไร?? ต่ออายุหรือไม่ต่อจะเกิดประโยชน์กว่ากัน?
ทีมข่าวแคทดั๊มบ์ขอสรุปให้ทุกท่านได้เข้าใจไปพร้อมๆ กันครับ…
ค่าโง่ทางด่วน คืออะไร!?
เรื่องของค่าโง่ทางด่วน ต้องแบ่งออกเป็น 2 เรื่อง
คือ 1 ข้อพิพาทตั้งแต่ปี 2542 หลังจากการก่อสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ ทำให้บริษัท NECL ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ BEM มองว่าทำให้สูญเสียรายได้จากทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด
บริษัทจึงขอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ทำการชดเชยรายได้ ซึ่งเป็นเงินที่เรียกร้องประมาณ 4,000 ล้านบาท
ซึ่งในปี 2561 ศาลมีมติให้ชดเชยรายได้ดังกล่าว แต่เมื่อคิดรวมจากดอกเบี้ย ระยะเวลาที่ยาวนาน ทำให้เงินดังกล่าวสูงถึง 75,000 ล้านบาท
เรื่องที่ 2 คือข้อพิพาทที่เกิดในปี 2546 จากประเด็นการที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ไม่ปรับขึ้นค่าทางด่วนให้กับ BEM ตามที่กำหนดทุกๆ 5 ปี
ในส่วนนี้คณะอนุญาโตตุลาการ ได้ให้การทางพิเศษชดใช้เป็นจำนวนเงิน 60,000 ล้านบาท
สรุปรวมเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ค่าโง่ทางด่วน” มูลค่าประมาณ 137,000 ล้านบาท ที่ยังคงไม่จบสิ้น และต้องหาทางออกกันต่อไป..
ประเด็นการต่อสัญญาสัมปทาน แลกกับไม่จ่ายค่าโง่ทางด่วน
ล่าสุด หลังจากคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีมติต่อสัญญาสัมปทานให้บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) (BEM) อีก 30 ปีเพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาท 137,000 ล้านบาท
เรื่องนี้ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งฝ่ายรัฐบาลบางส่วน และฝ่ายค้าน ออกมาประสานเสียงเพื่อคัดค้านแนวคิดดังกล่าว
นำโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังธรรมใหม่ ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลเอง เพื่อยื่นข้อเสนอให้รัฐดำเนินการเอง หรือประมูลสัญญาสัมปทานใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับรัฐและประชาชน
ทีนี้เรามาดูการเปรียบเทียบข้อได้เปรียบและเสียเปรียบกรณีต่อและไม่ต่ออายุสัญญาสัมปทาน
อ้างอิงจากเอกสารประกอบการอภิปรายของ นพ.ระวี ณ วันที่ 11 กรกฎาคม 2562 ระบุว่า มีการประเมินรายได้จากทางด่วนในช่วงระยะเวลา 30 ในอนาคต เอาไว้อยู่ที่ประมาณ 750,000 ล้านบาท
ซึ่งในกรณีของการต่อสัญญาสัมปทาน เพื่อแลกกับการไม่จ่ายค่าโง่ ทางฝ่ายที่คัดค้านมองว่า จะเป็นการเสียผลประโยชน์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยในอนาคต
และผลประโยชน์บางส่วนที่ประชาชนได้รับ ก็อาจจะลดลงตามไปด้วย
ซึ่งตัวเลขตรงนั้น ฝ่ายคัดค้านมองว่าจะสูงถึง 300,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 30 ปี แถมยังจะเป็นการตัดปัญหาเรื่องค่าโง่เพิ่มเติมในอนาคต ตามอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าโง่อื่นๆเพิ่มเติม ที่รัฐต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มอีกด้วย
สรุป…
ล่าสุด ประเด็นกังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ที่ประชุมสภาฯ จึงเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน 39 คน เพื่อศึกษาต่อไป
และเราต้องติดตามกันว่า สุดท้ายแล้วจะมีการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน 30 ปี เกิดขึ้นหรือไม่…
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น