ในประเทศอย่างคอสตาริกา ปัญหาการลักลอบค้าไข่เต่าทะเลถือว่าเป็นปัญหาสำคัญสำหรับนักอนุรักษ์เป็นอย่างมาก เพราะมันไม่เพียงแต่จะผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหากับประชากรเต่าที่ใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย
ดังนั้นเพื่อที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์การอนุรักษ์อย่างคุณ Kim Williams-Guillén จึงได้ตัดสินใจทดลองผลิตไข่เต่าปลอมที่ติด GPS เอาไว้ภายในขึ้น
โดยเธอได้แรงบันดาลใจมาจากการที่ในหนังแนวสืบสวนสอบสวน ตำรวจมักมีการติด GPS ตามสินค้าผิดกฎหมายต่างๆ เพื่อให้ตรวจสอบตำแหน่งของคนร้ายได้อีกที
ไอเดียชิ้นนี้ทำให้ในปี 2015 คุณ Kim ได้รับรางวัล Wildlife Crime Tech Challenge ที่มีมูลค่ากว่า 3 แสนบาทมาแล้ว ซึ่งมากพอที่จะทำให้เธอนำอุปกรณ์ของเธอออกไปใช้งานจริงๆ
โดยอ้างอิงจากงานวิจัยที่ต่อยอด ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology ทีมนักวิทยาศาสตร์ในคอสตาริกานั้น ได้ทดลองผลิตไข่เต่าปลอมติด GPS ในรูปแบบนี้ร่วม 101 ฟองไปวางไว้ตามรังของเต้าทะเลบนหาดสี่หาด
พวกเขาได้ค้นพบว่าไม่เพียงแต่ไข่ปลอมพวกนี้จะไม่มีผลกระทบในแง่ร้ายต่อไข่เต่าของจริงที่ยังไม่ได้ฟักเป็นตัวเท่านั้น
แต่มากถึง 25 ฟองยังถูกขโมยไปโดยผู้ลักลอบค้าไข่เต่าทะเล นำไปสู่การจับกุมขบวนการลักลอบค้าไข่เต่าทะเลถึง 5 ครั้งในเวลาต่อมาด้วย
“มันเป็นเรื่องยากมากที่เราจะบอกความแตกต่างระหว่างไข่ของจริงกับไข่ GPS” คุณ Helen Pheasey นักชีววิทยาด้านการอนุรักษ์จากมหาวิทยาลัย Kent หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
อ้างอิงจากเธอขบวนการลักลอบค้าไข่เต่าทะเลได้คัดไข่เต่า GPS ทิ้งไปราวๆ 6 ฟองได้ แต่ถึงอย่างนั้น บางฟองก็สามารถติดตามคนร้ายไปได้ไกลสุดถึง 137 กิโลเมตรเลย
ดังนั้นแม้ว่าระบบนี้จะยังคงมีจุดอ่อนอยู่บ้างแต่ผลงานของคุณ Kim ก็ได้พิสูจน์ตัวแล้วว่ามันเป็นกับดักที่ดีที่จะใช้แก้เผ็ดผู้ลักลอบค้าไข่เต่าทะเลจริงๆ
และมันก็ไม่แน่เหมือนกันว่าด้วยกับดักเช่นนี้ เราก็คงจะมีเต่าทะเลไม่น้อยเลยที่จะถูกช่วยเหลือให้มีชีวิตรอดจนสามารถเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนต่อไปในอนาคต
ที่มา nationalpost, bbc, sciencemag และ zmescience
Advertisement