บริเวณรอบชายหาดแปซิฟิกทางตอนเหนือของคอสตาริกาในทุกๆ ปี คือสถานที่ที่เต่าทะเลหลายพันตัวจะเข้ามาเยือนเพื่อภารกิจวางไข่บนชายฝั่ง ภาพของฝูงเต่าที่เข้ามาทำรังคือหนึ่งในความมหัศจรรย์ที่สุดจากธรรมชาติ
เมื่อไม่นานมานี้ ทั่วโลกออนไลน์ต่างให้ความสนใจกับสารคดีตอนพิเศษของซีรีส์ PBS / BBS เรื่อง The Tropics: Spy in the Wild ซึ่งได้นำเสนอภาพของเต่าทะเลกว่า 20,000 ตัวที่เข้าฝั่งมาเพื่อวางไข่
สิ่งที่น่าทึ่งไม่ใช่เพียงแค่ภาพที่ได้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงกระบวนการถ่ายทำด้วย เนื่องจากเหล่าทีมงานเลือกใช้ “หุ่นยนต์เต่า” ที่มีลักษณะคล้ายเต่าจริงๆ ในการแฝงตัวเข้าไปบันทึกภาพ เพื่อป้องกันการรบกวนเต่าทะเล
นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์นกอีแร้งที่คอยถ่ายภาพมุมสูงได้อย่างน่าทึ่ง
โดยวิดีโอนี้ถูกรับชมไปแล้วกว่า 400,000 ครั้งบน YouTube พร้อมทั้งความคิดเห็นเชิงบวกที่ชื่นชมทีมงานในการเก็บภาพอย่างใกล้ชิดโดยที่ไม่ทำให้สัตว์เกิดความเครียดจากการถูกบุกรุก แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจที่มีต่อเพื่อนร่วมโลก
คลิปที่กำลังได้รับความสนใจที่สุดในขณะนี้…
นอกจากนี้ ด้วยเทคโนโลยีของกล้องถ่ายวิดีโอที่มีคุณภาพสูง ยังแสดงให้เห็นถึงมุมมองที่น่าสนใจของฤดูวางไข่ของเต่าทะเลได้อย่างน่าทึ่ง
พื้นที่ Ostional เป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเลที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คุณจะได้เห็นภาพการค้นหาสถานที่เหมาะๆ เพื่อวางไข่ในระยะใกล้แบบนี้
ฝูงเต่าจะขึ้นบกในช่วงเดือนกันยายนจนถึงธันวาคม พวกมันจะวางไข่และกลบไว้ใต้ผืนทรายเพื่อให้แน่ใจว่าลูกๆ ที่จะเกิดมาได้รับการปกป้องจากฝูงนกแร้งหรือนักล่าอื่นๆ อย่างปลอดภัย
แม่เต่าหนึ่งตัวอาจวางไข่ไว้ในรังได้มากถึง 100 ฟองเลยทีเดียว
ตัวหุ่นยนต์เต่าได้รับการออกแบบมาอย่างดี ตัวกล้องจะถูกติดตั้งไว้บริเวณดวงตา ในขณะที่การเคลื่อนไหวได้รับการตั้งโปรแกรมให้มีความเร็วเท่าเต่าตัวอื่นๆ เพื่อความสมจริง
บอกได้เลยว่าหากมองเผินๆ คุณไม่มีทางแยกเต่าจริงกับเต่าสอดแนมเหล่านี้ออกจากกันได้แน่นอน
นอกจากนี้ ทีมงานยังได้ซ่อนกล้องเอาไว้ในรูปแบบของไข่เต่า เพื่อให้สามารถถ่ายวิดีโอในมุมมองต่างๆ สำหรับประกอบสารคดีได้
นอกจากการเก็บบันทึกภาพ ทีมงานยังหวังด้วยว่าไข่ปลอมจะดึงดูดให้นกแร้งมาขโมยมันแทนไข่จริง เพื่อเพิ่มโอกาสการมีชีวิตรอดให้กับเจ้าเต่าน้อย
.
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งมิติที่น่าสนใจในการถ่ายทำเชิงนิเวศน์ เพื่อให้เราสามารถศึกษาไปพร้อมกับการปกป้องสัตว์ป่าได้โดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
แถมด้วยวิธีนี้เรายังได้ทำความเข้าใจกับมุมมองที่เต่าทะเลมองเห็นอย่างสมจริงอีกด้วย
ที่มา: boredpanda
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น