ความทรงจำของมนุษย์นั้นสำหรับหลายๆ คนแล้วอาจเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ แต่ในขณะเดียวกันแล้วความทรงจำของผู้คนเองก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถืออย่างยิ่งเช่นกัน
นั่นเพราะที่ผ่านๆ มาเราก็เคยมีการทดลองที่ออกมาบอกแล้วว่าสมองของเรานั้นรับ “ความทรงจำปลอม” เข้ามาได้ง่ายมาก และที่สำคัญคือบ่อยครั้งเราก็ไม่สามารถแยกได้ด้วยว่าความทรงจำที่เรามีนั้น แท้จริงแล้วเป็นของจริงหรือของปลอมกันแน่
และเมื่อล่าสุดนี้เอง พวกเราก็มีข่าวร้ายที่อาจจะทำให้เราสงสัยในความทรงจำของตัวเองกันอีกครั้ง เมื่อทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ที่นำโดยนักจิตวิทยาและภาษาวิทยาศาสตร์อย่างคุณ Julia Shaw ได้มีการออกมาเปิดเผยว่า
มนุษย์เรานั้นอาจถูกหลอกลวงด้วยความทรงจำปลอมได้ง่ายยิ่งกว่าที่เราเคยคิดไว้เสียอีก ถึงขนาดที่พวกเราไม่เพียงแต่จะหลงเชื่อในความทรงจำปลอมของตัวเอง แต่ยังรวมไปถึงความทรงจำปลอมของคนอื่นด้วย
โดยคุณ Julia และทีมงานนั้น พบความจริงในข้อนี้จากการทดลองต่อยอดจากงานวิจัยอีกชิ้นของเธอในปี 2015
ซึ่งในงานวิจัยชิ้นนั้น เธอและทีมงานได้ร่วมมือกับผู้ปกครองในการปลูกฝังความทรงจำในผู้เข้าร่วมการทดลองที่เป็นวัยรุ่น โดยอาศัยการหว่านล้อมและวิธีการทางจิตวิทยาต่างๆ เพื่อหลอกให้ผู้เข้ารับการทดลองเชื่อว่าพวกเขาเคยทำความผิด อย่างเช่นการลักขโมย หรือทำร้ายร่างกายคนอื่น “ในตอนที่ยังเป็นเด็ก”
เมื่อการทดลองในวันนั้นจบลง นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ค้นพบว่ามีผู้เข้าร่วมการทดลองกว่าครึ่ง เชื่อในเรื่องราวที่พวกเขาถูกปลูกฝังไว้ แถมในกรณีที่พวกเขาถูกบอกให้เล่าเรื่องราวในอดีต พวกเขาก็มักจะเล่าความทรงจำปลอมที่ได้รับการปลูกฝังมา ราวกับมันเกิดขึ้นจริงๆ และมีรายละเอียดอย่างไม่น่าเชื่อเสียด้วย
นี่ถือว่าเป็นอะไรที่ค่อนข้างน่ากลัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะความทรงจำนี้สามารถทำให้คนสารภาพเรื่องที่ตนเองไม่เคยทำออกมาได้ อย่างไรก็ตามเมื่อทีมวิจัยทดลองเอาวิดีโอการบอกเล่าเรื่องราวด้านบนไปให้อาสาสมัครอีกกลุ่มดู ในงานวิจัยต่อยอด พวกเขาก็ต้องพบเรื่องน่ากลัวยิ่งกว่าเดิมเข้าอีกเรื่อง
นั่นเพราะเมื่ออาสาสมัครกลุ่มใหม่ได้ฟังเรื่องราวจากความทรงจำปลอมเมื่อปี 2015 และถูกสอบถามว่าเรื่องที่ได้ฟังเรื่องไหนบ้างที่เป็นความจริงและเรื่องไหนบ้างที่ไม่ใช่เรื่องจริง พวกเขาก็พบว่าอาสาสมัครกลุ่มใหม่จะให้คำตอบที่ถูกต้องได้เพียง 53%
ตัวเลขที่ออกมานี้เรียกได้ว่าไม่ต่างอะไรเลยจากการเดา และตัวเลขดังกล่าวก็ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเลยด้วย ต่อให้ทีมวิจัยจะบอกไว้ล่วงหน้าว่าวิดีโอที่พวกเขาดูบางส่วนเป็นเรื่องเล่าจากความทรงจำปลอม
“การค้นพบนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าขั้นตอนการสอบสวนในคดีทางอาญานั้นสำคัญขนาดไหน” คุณ Julia Shaw กล่าว “จากนี้ไปกระบวนการสอบสวนควรจะเป็นอะไรที่อิงตามหลักฐานมากกว่าคำพูด เพื่อที่เราจะลดความเสี่ยงในการปลูกฝังความทรงจำปลอมในใครก็ตามที่เข้ารับการสอบปากคำ”
และสำหรับใครก็ตามที่สนใจอยากอ่านเรื่องราวของงานวิจัยนี้เพิ่มเติม คุณก็สามารถเข้าไปอ่านงานวิจัยดังกล่าวอย่างละเอียดได้ในวารสาร Frontiers in Psychology เลย
ที่มา sciencedaily, ucl, earth และ frontiersin
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น