บนโลกของเรานั้นมีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่จะเก็บพลังงานที่ได้มาไว้ในรูปแบบของไขมัน ก่อนที่จะนำมันมาใช้ในเวลาที่ต้องการจริงๆ
แต่ทราบกันหรือไม่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ คอนเซ็ปต์การเก็บพลังงานไว้ในไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกจำกัดอยู่แต่ในหมู่สิ่งมีชีวิตอีกต่อไปก็เป็นได้
นั่นเพราะเมื่อล่าสุดนี้เอง ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้ประสบความสำเร็จในการทำแหล่งพลังงานแบบใหม่สำหรับหุ่นยนต์ ที่สามารถทำงานได้ด้วยการแปะมันลงไปบนตัวหุ่นราวกับว่าเป็นไขมันเข้าให้แล้ว
อ้างอิงจากรายงานจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนเองแหล่งพลังงานใหม่นี้ ถูกสร้างขึ้นภายใต้เป้าหมายในการทำลายข้อจำกัดของหุ่นยนต์ในอดีต ซึ่งมักจะต้องใช้พื้นที่เกือบๆ 20% ไปกับการใส่แบตเตอรี่
ดังนั้น เพื่อที่จะก้าวข้ามข้อจำกัดนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงได้ออกแบบแบตเตอรี่ชนิดซิงค์แบบใหม่ขึ้น โดยอาศัยระบบส่งไฟฟ้าผ่านอากาศด้วยเส้นใยอารามิดแบบพิเศษ
ระบบนี้ไม่เพียงจะทำให้ตัวที่เก็บพลังงานรุ่นใหม่สามารถมีรูปร่างที่ยืดหยุ่นขึ้นเท่านั้น แต่มันยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าแบตเตอรี่ตามปกติด้วย และที่สำคัญมันยังสามารถแปะอยู่ตรงไหนของหุ่นก็ได้เพื่อให้พลังงานด้วย
ตัวอย่างการทำงานของแบตเตอรี่ซิงค์แบบใหม่นี้
“เราคาดการณ์ว่าหุ่นยนต์จะมีกำลังไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 72 เท่าเมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน หากเราแทนที่แบตเตอรี่ดังกล่าวด้วยแบตเตอรี่ภายนอกนี้” คุณ Mingqiang Wang หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
ที่สำคัญจากการที่แบตเตอรี่นี้แปะอยู่ตามรอบนอกของตัวหุ่น เรายังสามารถมองได้อีกด้วยว่าแบตเตอรี่นี้ทำหน้าที่ปกป้องตัวหุ่นไปในตัวในเวลาเดียวกัน
นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากที่แบตเตอรี่ชิ้นนี้ในปัจจุบันยังถือว่ามีจุดอ่อนสำคัญอยู่ข้อหนึ่ง
นั้นคือตัวแบตเตอรี่นั้นสามารถรักษาความจุสูงสุด ได้ในการชาร์จไฟแค่ราวๆ 100 ครั้งเท่านั้น ก่อนที่ตัวแบตเตอรี่จะค่อยๆ อ่อนกำลังลง ซึ่งถือว่าเป็นอายุการใช้งานที่สั้นกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมาก
อย่างไรก็ตามด้วยความที่วัสดุที่ใช้สร้างแบตเตอรี่ตัวใหม่นี้ถือว่ามีราคาค่อนข้างถูก แถมยังสามารถรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ได้
ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อเป็นอย่างมากว่าผลงานของพวกเขา อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีของวงการแบตเตอรี่หุ่นยนต์ในอนาคตก็เป็นได้
Advertisement
0 Comments