ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 2019 ห้องปฏิบัติการบนเครื่องบิน DC-8 ของ NASA ได้ทำการบินผ่านก้อนเมฆขนาดใหญ่แบบ Pyrocumulonimbus หรือที่หลายๆ คนรู้จักกันในชื่อ “เมฆไฟ” เหนือพื้นที่ทางตะวันออกของวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
ที่นั่นพวกเขาได้จับภาพสุดงดงาม ที่ราวกับไม่ใช่ภาพถ่ายบนโลกเอาไว้จำนวนหนึ่ง ก่อนที่จะทำการเผยแพร่ภาพดังกล่าวออกมาในนามสำนักพิมพ์ออนไลน์ “NASA Earth Observatory” และได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากผู้ที่เข้ามาพบเห็น
แต่แม้ว่าภาพที่ออกมาจะงดงามแค่ไหนก็ตาม ตัวต้นที่แท้จริงของเมฆที่เราเห็นเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ไฟป่าในพื้นที่ ซึ่งทำให้ความร้อนและความชื้นถูกดันขึ้นไปบนฟ้าและเกิดเป็นพายุฝนฟ้าคะนองได้
เครื่องบิน DC-8 เข้าไปสำรวจเมฆไฟเหล่านี้ภายใต้โครงการ “Firex-AQ” ซึ่งเป็นดำเนินการสำรวจผลกระทบของไฟป่าในภูมิภาคต่อสภาพแวดล้อมและคุณภาพอากาศของโลก โดยร่วมมือกับกรมการบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ
ภาพของควันไฟที่อยู่ใต้เมฆไฟสีขาว
เป้าหมายหลักของการสำรวจที่เกิดขึ้น คือการทำความเข้าใจพบกระทบของควันไฟต่อคุณภาพอากาศและภูมิอากาศผ่านการเก็บข้อมูลทั้งด้านองค์ประกอบและด้านเคมี ซึ่งทำได้โดยการใช้เซ็นเซอร์เก็บข้อมูลบนเครื่องบิน
โดยนักวิทยาศาสตร์นั้น ให้ความสนใจเป็นอย่างมากในความสามารถของเมฆไฟ ซึ่งผลักควันเข้ามาในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์จนทำให้มันสามารถแพร่กระจายและคงตัวอยู่เป็นเวลานาน สร้างปัญหาเรื้อรังให้แก่สภาพอากาศ
ภาพถ่ายดาวเทียมของควันและเมฆไฟจากเหตุไฟป่าในพื้นที่
David Peterson ผู้นำทีมพยากรณ์อากาศของ Firex-AQ อธิบายว่าการบินของ DC-8 ทำให้พวกเขาได้รับตัวอย่างที่มีความละเอียดมากที่สุดของเมฆไฟเท่าที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์
ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าดีใจมากเพราะในการจัดการกับผลกระทบด้านคุณภาพอากาศจากภัยพิบัติแบบนี้ พวกเขาต้องการข้อมูลทั้งหมดที่พอจะหาได้
ทั้งนี้ต้นเหตุของไฟป่าใกล้ๆ กับวิลเลียมส์แฟลตส์ เกิดขึ้นจากเหตุฟ้าผ่าพุ่มไม้ และในวันที่ 15 สิงหาคม มีรายงานว่าไฟป่าได้กินพื้นที่ไปมากกว่า 182 ตารางกิโลเมตร แม้ว่าจะมีการควบคุมไฟป่าไปกว่า 81% แล้วก็ตาม
ที่มา sputniknews, cnet และ livescience
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น