ด้วยปริมาณฟอสซิลที่ถูกพบตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายๆ คนจะมีความคิดว่าเรารู้เรื่องราวแทบทั้งหมดเกี่ยวกับไดโนเสาร์แล้วในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามที่ผ่านๆ มาเรากับไม่เคยมีหลักฐานที่ชัดเจนเลยว่าเจ้าสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ในอดีตนี้ แท้จริงแล้วมีการปัสสาวะ อุจจาระ หรือแม้แต่สืบพันธุ์อย่างไร
แต่ปริศนาที่เคยคาใจนักวิทยาศาสตร์มาตลอดนี้ ก็อาจจะได้รับข้อสรุปแล้วก็ได้
เมื่อล่าสุดนี้เอง ภายใน ซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ซิตตะโกซอรัส (Psittacosaurus) จากประเทศจีนนักวิทยาศาสตร์ก็เพิ่งจะได้ค้นพบหลักฐานของ “รูทวาร” ไดโนเสาร์เป็นครั้งแรก และมันก็แปลกอย่าบอกใครเลยด้วย
อ้างอิงจากทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริสตอล ไดโนเสาร์ซิตตะโกซอรัสที่ถูกตรวจสอบในครั้งนี้ เชื่อว่ามีอายุได้ตั้งแต่ 65-145 ล้านปี
โดยมันมีจุดเด่นอยู่ที่ส่วนท้ายของตัวไดโนเสาร์ ซึ่งยังคงมีความสมบูรณ์มากพอที่จะทำให้นักวิทยาศาสตร์เห็นตำแหน่งของอวัยวะสำคัญต่างๆ ได้
ซึ่งนั่นก็ทำให้พวกเขาทราบว่าไดโนเสาร์นั้น แท้จริงแล้วอาจจะมีรูขับถ่ายเพียงรูเดียวเท่านั้น เรียกว่าช่องโคลเอกา และพวกมันก็น่าจะใช้รูดังกล่าวทั้ง ปัสสาวะ อุจจาระ สืบพันธุ์ และวางไข่เลย
นี่อาจจะเป็นอะไรที่ฟังดูแปลก แต่ในความเป็นจริงแล้วแม้ในปัจจุบันสัตว์หลายชนิดในตระกูลสัตว์ปีกและสัตว์เลื้อยคลานเอง บ่อยครั้งก็มักจะมีรูขับถ่ายเพียงรูเดียวเช่นกัน
“มันเป็นอะไรที่มีเอกลักษณ์มาก ช่องโคลเอกาส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะเป็นร่อง บางทีก็แยกแนวตั้งบางทีก็แยกเป็นรูปหน้ายิ้ม”
“แต่ช่องที่เราพบกลับเป็นรูปตัววีพร้อมส่วนกลีบ 2 อัน ซึ่งไม่มีสัตว์ที่มีชีวิตใดเลยซึ่งจะมีช่องลักษณะเช่นนี้”
คุณ Jakob Vinther นักบรรพชีวินวิทยาและอาจารย์อาวุโสจากมหาวิทยาลัยบริสตอลระบุ
“มันอาจจะมีส่วนคล้ายกับของจระเข้อยู่บ้าง แต่ก็มีเอกลักษณ์สูงอยู่ดี”
นับว่าเป็นอะไรที่น่าเสียดายมากที่ลักษณะรูที่พบนั้น ยังคงไม่ถือว่าเป็นหลักฐานโดยตรงที่ทำให้เราทราบได้ว่าตกลงแล้วไดโนเสาร์ นั้นมีวิธีการผสมพันธุ์อย่างไรกันแน่
เพราะจนถึงปัจจุบันเรายังไม่เคยพบฟอสซิลของไดโนเสาร์ตัวใดๆ เลยที่ตายไประหว่างขั้นตอนนี้ แถมชิ้นเนื้ออวัยวะเพศของไดโนเสาร์ตัวผู้เองก็ไม่ใช่อะไรที่จะพบได้ง่ายๆ ด้วย
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามจากสิ่งที่เราพบในครั้งนี้ มันก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มค่อนข้างมั่นใจเลยว่า ไดโนเสาร์นั้นน่าจะใช้เจ้ารูที่พบในขั้นตอนการผสมพันธุ์ด้วยเป็นแน่นั่นเอง
ที่มา cnn, livescience
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น