ปี 2019 นี้นับว่าเป็นปีทองของการค้นพบรูปถ่ายทางอวกาศเลยจริงๆ ไม่เพียงแต่เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่นักวิทยาศาสตร์จะสามารถถ่ายภาพหลุมดำของจริงเป็นภาพแรกของโลกเท่านั้น เมื่อล่าสุดนี้เอง นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถถ่ายภาพของ “เส้นใยจักรวาล” เป็นครั้งแรกด้วยเช่นกัน
เส้นใยจักรวาลหรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ใยเอกภพ” คือโครงสร้างขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์รู้จักและปรากฏอยู่ในเอกภพ โดยมันจะมีลักษณะคล้ายเครือข่ายเส้นด้ายขนาดยักษ์ที่ประกอบด้วยดาราจักรหลายแห่ง ซึ่งถูกดึงดูดกันอยู่ด้วยแรงโน้มถ่วง
ใยเอกภพเชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่หลงเหลือมาจากการระเบิดครั้งใหญ่ (Big Bang) ในอดีตและคาดกันว่าเป็นสิ่งที่เก็บก๊าซแทบจะทั้งหมดของอวกาศเอาไว้ และจะคอยป้อนก๊าซดังกล่าวเพื่อสร้างและเลี้ยงดวงดาวและดาราจักรราวกับเป็นเส้นเลือด อ้างอิงจากทฤษฎีในอดีต
ภาพของใยเอกภพในอดีตที่จำลองขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยี C-EAGLE เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงกันของกระจุกกาแล็กซี
ด้วยลักษณะองค์ประกอบที่มีก๊าซเป็นหลักนี้เองทำให้ใยเอกภพมักจะถูกแสงจากดวงดาวและดาราจักรรอบๆ บดบังไปเสียหมด ทำให้ที่ผ่านๆ มาแม้มนุษย์จะรู้ถึงการมีตัวตนอยู่ของมัน ที่ผ่านๆ มาเส้นใยจักรวาลกลับไม่เคยมีการถูกสังเกตการณ์มาก่อนเลย
แต่แล้วเมื่อล่าสุดนี้เอง ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีกล้องโทรทรรศน์บนโลก ในที่สุดทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติก็สามารถจับภาพของใยเอกภพมาให้เราเห็นจนได้ โดยมันเป็นภาพของใยเอกภพไฮโดรเจนสีน้ำเงิน ซึ่งถูกถ่ายเอาไว้ได้ห่างออกไปจากโลกราวๆ 1,200 ล้านปีแสง ด้วยการอาศัยแสงรังสีอัลตราไวโอเลตจากกาแล็กซีรอบๆ
ภาพเต็มๆ ของเส้นใยจักรวาล ซึ่งถ่ายมาได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ความไวสูง และความช่วยเหลือจากแสงรังสีอัลตราไวโอเลต
สิ่งที่เห็นในภาพนั้นแม้ว่าจะดูเล็กแต่จริงๆ แล้วมันแผ่ออกไปเป็นระยะทางกว่า 3 ล้านปีแสง ซึ่งยืนยันแนวคิดในอดีตที่ว่าใยเอกภพคือโครงสร้างขนาดใหญ่ที่สุดในจักรวาลจริงๆ
“การสังเกตการณ์โครงสร้างที่จางที่สุด แต่ก็ใหญ่ที่สุดในจักรวาลชิ้นนี้ จะเป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจว่าจักรวาลของเรามีวิวัฒนาการอย่างไร ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี” คุณ Erika Hamden นักดาราศาสตร์ที่หอดูดาวมหาวิทยาลัยแอริโซนากล่าว
และแม้ว่าโครงสร้างที่เราเห็นนี้จะใหญ่โตถึง 3 ล้านปีแสง ก็ตาม คุณ Erika ก็อธิบายเอาไว้ว่านี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของใยเอกภพเท่านั้น เพราะตัวจริงของใยเอกภพพบยังใหญ่ไปมากกว่านี้อีกมาก สมชื่อสิ่งที่เชื่อมต่อจักรวาลไว้ด้วยกันเลยนั่นเอง
ที่มา livescience, gizbot, futurism และ theguardian
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น