CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

วิจัยพบ ราวๆ 80% ของคนที่มีอายุมากกว่า 110 ปีบนโลก มาจากความผิดพลาดของข้อมูล

เมื่อพูดถึงพื้นที่ที่มีผู้สูงอายุมากกว่า 110 ปีอาศัยอยู่มากที่สุดในโลก เพื่อนๆ เคยสังเกตกันหรือไม่ว่าคนเหล่านี้ มักจะไปกระจุกตัวกันอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นโอกินาว่าในญี่ปุ่น ซาร์ดิเนียในอิตาลี และอิคาเรียในกรีซ

 

 

ความแปลกในจุดนี้ เป็นหนึ่งในเรื่องที่คาใจของ Saul Justin Newman นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิทยาศาสตร์ข้อมูลชีวภาพ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย

ดังนั้นเขาจึงได้ออกไปทำการวิจัยเพื่อตรวจสอบเสียเลยว่า ทำไมพื้นที่เหล่านี้ จึงมีผู้สูงอายุมากกว่า 110 ปีไปกระจุกอยู่รวมกันได้

เขาพบว่าพื้นที่ของโลกที่มีรายงานความหนาแน่นของผู้สูงอายุมากกว่า 110 ปีขึ้นไปนั้น แท้จริงแล้วมักจะมีอายุขัยโดยเฉลี่ยต่ำ และการดูแลสุขภาพของรัฐที่ไม่ดี ซึ่งไม่สมเหตุสมผลกับการที่จะมีคนแก่อายุมากๆ อาศัยอยู่ที่นี่เป็นจำนวนมาก

เท่านั้นยังไม่พอเมื่ออ้างอิงจากข้อมูลของสื่อต่างประเทศ ตามปกติแล้วมนุษย์ผู้มีอายุยืนถึง 100 ปีนั้น จะมีโอกาสโดยเฉลี่ยเพียงแค่ 1 ใน 1,000 คน ที่จะสามารถอายุยืนถึง 110 ปีได้ ดังนั้นเหตุการณ์น่าดีใจเหล่านี้จึงน่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมากๆ ไม่ใช่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในพื้นที่เดิมๆ แบบนี้

 

 

ถ้าอย่างนั้นแล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่ที่มีคนอายุมากกว่า 110 ปี ไปกระจุกตัวอยู่เป็นจำนวนมาก?

สำหรับเรื่องนี้ ทีมนักวิจัยได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าข้อมูลตัวเลขผู้สูงอายุที่ทางรัฐได้รับการรายงานจากพื้นที่ที่กล่าวไปข้างต้นนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นข้อมูลที่มีความผิดพลาด ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

พวกเขาเชื่อว่าข้อมูลที่ทางรัฐได้รับ อาจจะเกิดจากการจำวันเกิดผิดจากเหล่าผู้สูงอายุเองหรือเป็นการจงใจให้ข้อมูลหลอกลวงแก่รัฐ เพื่อประโยชน์ทางการเงินหรือการสวมรอยผู้คนสูงอายุ

ตัวอย่างคดีที่น่าสงสัยว่าจะเข้าข่ายการสวมรอยแบบข้างต้น เช่นคดีของ Jeanne Louise Calment ผู้ที่อ้างว่ามีชีวิตยืนยาวถึง 122 ปี (เสียชีวิตไปเมื่อปี 1997) ทั้งที่ทั้งดื่มเหล้าและสูบบุหรี่

ซึ่งนักประวัติศาสตร์หลายๆ คนมองว่าตัวคนแก่ที่เราเห็น อาจจะเป็นลูกสาวของเธอ Yvonne สวมรอยผู้เป็นมารดามากกว่า

 

Jeanne Louise Calment ผู้มีชีวิตยืนยาวถึง 122 ปี ทั้งที่ดื่มเหล้าและสูบบหรี่

 

เป็นไปได้ว่า Yvonne นั้นสวมรอยมารดาเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงภาษีมรดก ซึ่งหากเป็นจริงมันก็จะทำให้อายุตอนเสียชีวิตของหญิงสาวคนนี้ลดจาก 122 ปี เหลือแค่ 99 ปีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ข้อสงสัยในจุดนี้ยังไม่เคยมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแต่อย่างใด

คุณ Saul อธิบายว่า เรื่องราวการสวมรอยคนนั้นแม้ว่าจะเป็นอะไรที่ฟังดูแปลกแต่ก็เกิดขึ้นจริงและบ่อยกว่าที่เราคิด…

เนื่องจากคนสองคนแรกของโลกที่ถูกบันทึกว่าอายุยืนถึง 112 ปี ก็ถูกถอดชื่อออกเพราะถูกพบว่าพวกเขามีการสวมรอยเป็นคนอื่นมาแล้ว แถมคนสามคนแรกที่อายุยืนถึง 113 ปีเองก็ถูกถอดชื่อไปด้วยเหตุผลเดียวกันด้วย

 

 

สาเหตุของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เหล่านี้ คือการเก็บข้อมูลวันเกิดที่เชื่อถือได้จริงเกิดขึ้นช้ากว่าที่เราคิดมาก และสำหรับคนสูงอายุมักจะต้องพึงพาข้อมูลรุ่นเก่าอยู่

ซึ่งหากมองกันจริงๆ แล้ว ในกลุ่มผู้สูงอายุกว่า 110 ปีจำนวน 10 คน จะมีถึงราวๆ 7-8 คนเลยทีเดียว ที่ไม่ได้มีอายุมากอย่างที่เราคิด

และไม่ว่าผู้มีอายุมากกว่า 110 ปีบนโลกจะมีน้อยกว่าความเป็นจริงอย่างที่งานวิจัยอ้างไว้หรือไม่ เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ในอดีตนั้น มีโอกาสสูงมากที่จะถูกบิดเบือนให้ผิดเพี้ยนไปจากความจริง

 

ที่มา allthatsinteresting, vox, livescience และ biorxiv


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น