เพื่อนๆ เคยได้ยินเรื่องราวการค้นพบ “การระเบิดของคลื่นวิทยุอย่างรวดเร็ว” (Fast Radio Burst) หรือ “FRB” กันมาก่อนไหม? นี่คือการลุกจ้าอย่างฉับพลันของคลื่นวิทยุปริศนาในอวกาศ ซึ่งถูกตรวจพบเป็นครั้งแรกในปี 2007 และจนถึงปัจจุบันเราก็ยังบอกไม่ได้เลยว่ามันเกิดจากอะไร
FRB ตามปกติแล้วจะเกิดขึ้นเป็นชุดๆ และเคยถูกพบมาทั้งแบบที่เกิดขึ้นเพียงชุดเดียวแล้วหายไปเลย และแบบที่กะพริบซ้ำๆ ในจุดเดิมๆ แบบไม่เป็นจังหวะ ซึ่งทำให้ที่ผ่านๆ มามีคนจำนวนหนึ่งที่สงสัยว่าเจ้า แสงเหล่านี้ จริงๆ แล้วอาจจะเป็นการ “ส่งสัญญาณ” บางอย่างจากในอวกาศรึเปล่า
แต่แทนที่นักวิทยาศาสตร์จะสามารถไขปริศนาที่มาของแสงปริศนาเหล่านี้ได้ ล่าสุดนี้เองปริศนาเกี่ยวกับแสงเหล่านี้กลับยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก เมื่อนักวิจัยของมหาวิทยาลัยคอร์เนลได้ทำการค้นพบ FRB แห่งใหม่ ที่มีการกะพริบแบบแปลกๆ และไม่เคยถูกพบมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ของมนุษย์
ตำแหน่งคร่าวๆ ของ FRB 180916.J0158+65
FRB ตัวใหม่นี้มีชื่อว่า “FRB 180916.J0158+65” โดยมันเป็น FRB ที่อยู่ห่างจากโลกไปราวๆ 500 ล้านปีแสง และมีการกะพริบเป็นชุดในรูปแบบเดิมๆ ทุก 16.35 วันแบบไม่ขาดไม่เกิน
อ้างอิงจากข้อมูลการค้นพบ นักวิทยาศาสตร์ได้เฝ้าติดตาม FRB 180916.J0158+65 มาเป็นเวลามากกว่า 409 วัน และพบว่า ในทุกๆ 16 วัน FRB ตัวนี้จะมีการกะพริบ 1-2 ครั้งทุกๆ ชั่วโมงต่อเนื่องเป็นเวลาสี่วัน ก่อนที่มันจะเงียบหายไป 12 วัน และเริ่มกะพริบใหม่
กล้องโทรทรรศน์ วิทยุไชม์ (CHIME Telescope) สถานที่ที่นักดาราศาสตร์ใช้สังเกตการณ์ FRB
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ FRB ตัวนี้กลายเป็น FRB ตัวแรกที่มีการกะพริบแบบมีรูปแบบตายตัวที่นักดาราศาสตร์เคยพบมา และแน่นอนว่าทำให้เกิดทฤษฎีมากมายที่พยายามอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นไปด้วย
ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีดาวนิวตรอนที่หมุนเร็วมากจนปล่อยคลื่นวิทยุเป็นจังหวะ ทฤษฎีดาวคู่ที่หมุนรอบกันจนบังคลื่นวิทยุกันเองเป็นเวลาหลายวัน หรือแม้แต่ทฤษฎีมนุษย์ต่างดาวพยายามสื่อสารอะไรบางอย่าง
แต่ไม่ว่าจะเป็นทางไหนเราก็คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า FRB ตัวใหม่นี้ มีความน่าสนใจสูงมาก และหากเราไขปริศนาของมันได้ ไม่แน่ว่าเราก็อาจจะหาคำตอบของการระเบิดของคลื่นวิทยุอย่างรวดเร็วทั้งหมดที่เราเคยพบมาไปพร้อมๆ กันเลยก็เป็นได้
ที่มา futurism, arxiv และ sciencealert
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น