ในช่วงเวลาที่เรามีข่าวดราม่าร้อนหลังสำนักข่าวในเดนมาร์กอ้างว่าโรคโควิดมีต้นกำเนิดมาจาก “จตุจักร” เช่นนี้ เชื่อว่าคงมีหลายคนไม่น้อยที่หันกลับมาสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับต้นกำเนิดของไวรัส SARS-CoV-2 กันอีกครั้ง
ดังนั้นนี่จึงอาจจะเป็นแนวคิดอีกแง่ที่ค่อนข้างน่าสนใจเลย เมื่อในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานาย Roland Wiesendanger นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยฮัมบูร์กในประเทศเยอรมนี ได้ออกมาเปิดเผยว่า
เขานั้นมีความมั่นใจถึง 99.9% ที่ว่าโรคโควิด-19 นั้น แท้จริงแล้วจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากมือของมนุษย์ อย่างเช่นความผิดพลาดของสถาบันไวรัสวิทยาหวู่ฮั่น
คำกล่าวอ้างของนาย Roland นั้นถูกเปิดเผยออกมาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2021 ในรูปแบบของงานวิจัย 105 หน้า ในหัวข้อ “การศึกษาที่มาของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา”
โดยในรายงานนาย Roland ได้เก็บข้อมูลจากทั้งบทความทางวิทยาศาสตร์ สิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และการติดต่อสื่อสารกับนักวิจัยนานาชาติ ในช่วงเดือนมกราคม-ธันวาคมปี 2020 และพบกับ “ข้อบ่งชี้สำคัญ” หลายข้อเช่น
1. การที่เราไม่มีตัวอย่างผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากพาหะตามธรรมชาติ (เช่นติดโรคจากค้างคาวโดยตรง)
2. การที่ไวรัสมีความเข้ากันได้อย่างเหมาะสมเกินไปกับตัวรับ hACE2 ของมนุษย์
3. ในตลาดอาหารทะเลที่เกิดเหตุไม่มีรายงานการขายค้างคาวโดยตรง
4. มาตรการด้านความปลอดภัยของห้องทดลองจีนหละหลวมอย่างน่าประหลาด
5. ในช่วงเดือนตุลาคม 2019 หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ได้ อ้างว่าพบหลักฐานการ “ปิดการทดลอง” และ “เหตุการณ์อันตราย” ที่สถาบันไวรัสวิทยาหวู่ฮั่น
แน่นอนว่าข้อมูลทั้งหมดนี้ทำให้นาย Roland เชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่า โรคโควิด-19 น่าจะเป็นสิ่งที่หยุดออกมาจากสถาบันไวรัสเอง แม้ว่าจะยังบอกไม่ได้ว่าด้วยความตั้งใจหรือไม่
อย่างไรก็ตามเช่นเดียวกับแนวคิด โรคโควิด-19 มาจากมือมนุษย์ที่ผ่านๆ มาแนวคิดของนาย Roland เองก็ถูกมองจากผู้เชี่ยวชาญว่า “แทบไม่มีความเป็นไปได้”
นั่นเพราะนอกจากตัว นาย Roland จะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสโดยตรงแล้ว แหล่งข้อมูลหลายจุดของเขายังมาจากรายงานทางหนังสือพิมพ์และวิดีโอ YouTube ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์เลย
เท่านั้นยังไม่พอรายงานของเขายังถูกตีพิมพ์เพียงแค่ 10 วันหลังจากที่ทางองค์การอนามัยโลกการตรวจสอบต้นกำเนิดของโควิดในอู่ฮั่น และขอให้นักวิทยาศาสตร์หยุดทฤษฎีไวรัสรั่วไหลด้วย
ดังนั้นแม้ว่ารายงานที่ออกมาจะดูน่าสนใจมากก็ตาม ความน่าเชื่อถือของมันก็ถือว่ามีอยู่ค่อนข้างต่ำเลยในแง่มุมของวงการวิทยาศาสตร์
ที่มา researchgate, taiwannews และ euroweeklynews
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น