CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

พบฟอสซิลในอำพันจำนวนมากที่ออสเตรเลีย หนึ่งในนั้นคือแมลงวันที่กำลังผสมพันธุ์กัน

เมื่อเราพูดถึงแหล่งฟอสซิลในอำพัน โดยมากแล้วหลายคนคงมักจะนึกถึงแหล่งโบราณคดีที่ประเทศพม่าขึ้นมาเป็นแห่งแรก เพราะป่าในอดีตอายุ 99 ล้านปีของที่พม่านั้น ที่ผ่านมาเรียกได้ว่ามอบการค้นพบที่น่าสนใจให้กับโลกมานักต่อนักแล้ว

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามมันก็ไม่ได้หมายความว่าในสถานที่อื่นๆ ในโลกเราจะไม่มีแหล่งฟอสซิลในอำพันอื่นๆ อยู่เลยเช่นกัน

 

 

นั่นเพราะเมื่อล่าสุดนี้เอง ที่ประเทศประเทศออสเตรเลีย ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโมนาช ก็เพิ่งจะได้พบฟอสซิลในอำพันจำนวนมากในประเทศของพวกเขาเองเช่นกัน

แถมหนึ่งในฟอสซิลอำพันที่ถูกพบในครั้งนี้ ยังเป็นฟอสซิลแปลกๆ อย่างแมลงวันสองตัว ที่ถูกผนึกไว้เมื่อ 40-42 ล้านปีก่อน ในระหว่างที่กำลังผสมพันธุ์เสียด้วย

 

 

อ้างอิงจากรายงานการค้นพบ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports การค้นพบในครั้งนี้ ถูกระบุไว้ว่าเกิดขึ้นที่เหมืองถ่านหินในวิคตอเรีย โดยมันถูกค้นพบพร้อมกับอำพันเก่าแก่อีกร่วม 5,800 ชิ้น ซึ่งมาจากทั้งทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลียเอง และพื้นที่ใกล้เคียงอย่างแทสมาเนีย กับนิวซีแลนด์

ในกรณีของ ฟอสซิลแมลงวันที่มหาวิทยาลัยโมนาชพบนั้น มันเป็นฟอสซิลที่มาจากในช่วงที่ออสเตรเลียยังคงเป็นส่วนหนึ่งของทวีปขนาดใหญ่ที่ชื่อกอนด์วานาอยู่ด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นทำให้มันเป็นฟอสซิลการผสมพันธุ์ของสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดของออสเตรเลียไปได้ไม่ยากเลย

 

เหมืองถ่านหินซึ่งมีการค้นพบอำพันในครั้งนี้

 

ตัวอย่างอำพันจำนวนมากที่ถูกพบ

 

“นี่เป็นหนึ่งในการค้นพบที่ใหญ่ที่สุดในวงการบรรพชีวินของออสเตรเลียเลย” คุณ Jeffrey Stilwell ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโมนาช ผู้เขียนหลักของงานวิจัยกล่าว ซึ่งมันก็ถือว่าไม่ใช่คำพูดที่เกินจริงเลย เพราะที่ผ่านๆ มา ฟอสซิลอำพันมักจะถูกพบในซีกโลกเหนือเสียเป็นส่วนใหญ่

และนอกจากแมลงวันที่กำลังผสมพันธุ์กันแล้ว ฟอสซิลิอื่นๆ ที่ถูกพบในที่แห่งนี้เอง ก็ยังถือว่ามีความน่าสนใจไม่แพ้กันเลยด้วย ไม่ว่าจะเป็นริ้นน้ำเค็มอายุ 41 ล้านปี มดโบราณจากสายพันธุ์มดละเอียด แมงมุม หรือแม้แต่ตะไคร่น้ำสายพันธุ์ใหม่ที่มีอายุมากกว่า 42 ล้านปี ซึ่งสำหรับคุณ Stilwell แล้วนับว่าเป็นของขวัญชิ้นเยี่ยมของวงการเลย

 

มดโบราณจากสายพันธุ์มดละเอียด (Monomorium) ซึ่งถูกพบในการค้นหาครั้งนี้

 

ริ้นน้ำเค็มอายุ 41 ล้านปี (ซ้าย) และ ตะไคร่น้ำสายพันธุ์ใหม่อายุ 42 ล้านปี (ขวา)

 

“อำพันนั้นถือเป็น ‘จอกศักดิ์สิทธิ์’ ในการศึกษาด้านบรรพชีวินวิทยาเลย เนื่องจากสิ่งมีชีวิตถูกเก็บรักษาไว้จะมีสภาพของการเคลื่อนไหวที่ถูกระงับในพื้นที่ 3 มิติ อย่างสมบูรณ์แบบ ราวกับว่าพวกมันเพิ่งตายเมื่อวานนี้ไม่มีผิด” คุณ Stilwell กล่าว

“และความจริงที่ว่าอำพันพวกนี้มีอายุหลายล้านปีเอง ก็ทำให้การศึกษามันอาจจะนำมาซึ่งข้อมูลจำนวนมหาศาลเกี่ยวกับระบบนิเวศน์ในอดีตได้เลย”

 

ที่มา allthatsinteresting, nature และ cnet

Comments

ใส่ความเห็น