เพื่อนๆ เคยได้ยินชื่อของ “Great Synagogue of Vilna” กันไหม นี่คือธรรมศาลายิวขนาดใหญ่ที่เคยตั้งอยู่ในกรุงวิลนีอุส เมืองหลวงของประเทศลิทัวเนียมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ก่อนที่จะถูกเผาโดยนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและรื้อถอนทิ้งเพื่อสร้างเป็นโรงเรียนโดยโซเวียตในเวลาต่อมา
ภาพวาดของ Great Synagogue of Vilna ก่อนจะถูกทำลาย
เรื่องราวของธรรมศาลายิวแห่งนี้ค่อยๆ เลือนหายไปจากประวัติศาสตร์ทีละนิด จนกระทั่งในปี 2011 ที่ทีมนักโบราณคดีของลิทัวเนียได้เข้ามาทำการสำรวจที่นี่อีกครั้ง และนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการขุดค้นซากแหล่งโบราณคดีอย่างจริงจังในปี 2015
ตั้งแต่วันนั้นมานักโบราณคดีก็เริ่มที่จะค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความเชื่อของชาวยิวทีละเล็กทีละน้อย
จนกระทั่งเมื่อล่าสุดนี้เอง นักโบราณคดีก็ได้พบกับจารึกภาษาฮิบรูซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปีในแหล่งโบราณสถานเข้า ซึ่งสำหรับทีมสำรวจแล้ว จารึกนี้นับว่ามีคุณค่าอย่างที่ประเมิณเป็นราคาไม่ได้เลย
จารึกภาษาฮิบรู ซึ่งถูกค้นพบ
อ้างอิงจากทีมสำรวจจารึกที่ถูกพบในครั้งนี้เชื่อกันว่าเคยถูกใช้งานในฐานะส่วนหนึ่งของ “โทราห์” (คัมภีร์ฮีบรู) ในปี 1796 โดยมันถูกบริจาคให้ธรรมศาลาโดยพี่น้องตระกูล Rabbi เพื่อเป็นเกียรติให้ผู้เป็นบิดามารดา ซึ่งอพยพย้ายถิ่นฐานไปยังอิสราเอล
คุณ Jon Seligman ผู้อำนวยการของการขุดค้นในครั้งนี้บอกว่า จารึกชิ้นนี้เป็นทั้งหลักฐานและตัวอย่างชิ้นสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึง ความรู้สึกผูกพันอย่างลึกซึ้งต่อดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ของชุมชนชาวยิวในลิทัวเนียได้เป็นอย่างดี ทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมในช่วงศตวรรษที่ 14 กรุงวิลนีอุสจึงกลายเป็นเมืองชาวยิวที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งไป
ทั้งนี้เองนอกจากจารึกชิ้นนี้ ในการค้นพบครั้งล่าสุดนักโบราณคดีก็ยังมีโอกาสค้นพบวัตถุโบราณอื่นๆ อย่างกองเหรียญ ป้ายที่นั่งภาษาฮีบรู ชิ้นส่วนของแท่นอ่านคัมภีร์โทราห์ (ฺBimah) และพื้นอาคารที่ประดับด้วยหินสีงดงามอีกด้วย เรียกได้ว่าแม้จะเคยถูกทำลายไป แต่โบราณสถานแห่งนี้ก็ยังคงมีอะไรหลงเหลือให้ค้นหาอีกมากจริงๆ
ชิ้นส่วนของแท่นอ่านคัมภีร์โทราห์ และพื้นอาคารที่ประดับด้วยหินสี
ป้ายที่นั่งภาษาฮีบรู
ในท้ายที่สุดแล้วเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ทางรัฐบาลลิทัวเนียก็พบว่าพวกเขามีประชาชนชาวยิวเสียชีวิตไปเกือบๆ สองแสนคน ดังนั้นเพื่อที่จะแสดงความเคารพต่อผู้ที่จากไปและธรรมศาลาแห่งนี้ ทางลิทัวเนียจึงได้มีกำหนดการที่จะสร้างศูนย์อนุสรณ์สถานชาวยิวขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียง ภายในปี 2023 ต่อไป
ที่มา livescience, foxnews และ smithsonianmag
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น