สนามบินฟินแลนด์ เริ่มใช้ “สุนัข” ช่วยตรวจผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลังพบความแม่นยำเกือบ 100%


ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกเริ่มจะเปิดประเทศกันอีกครั้ง แม้จะยังคงได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 อยู่เช่นนี้ สถานที่อย่างสนามบิน ย่อมจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นจากที่เคย

แต่สำหรับสนามบินแห่งชาติเฮลซิงกิในฟินแลนด์แล้ว วิธีการรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นของพวกเขาคงจะสร้างความแปลกใจให้กับหลายๆ คนพอสมควรเลย

นั่นเพราะที่แห่งนี้ได้เลือกที่จะทดลองใช้ “สุนัข” ช่วยในการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 นั่นเอง

 

 

แน่นอนว่าอ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆ คนก็คงจะมีคำถามกันแล้วว่า เราควรจะเชื่อสุนัขในการตรวจสอบโรคโควิด-19 จริงๆ เหรอ?

แต่เชื่อกันหรือไม่ว่า นักวิทยาศาสตร์ของหลายๆ ประเทศนั้น ทราบถึงความเป็นไปได้ว่าสัตว์อย่างสุนัข อาจจะสามารถตรวจจับโรคโควิด-19 ได้ และทดลองกับความจริงข้อนี้ มาตั้งแต่ก่อนช่วงเดือนเมษายนแล้ว

โดยหนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ กลุ่มนักวิจัยจากคณะสัตวแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ก็ได้ฝึกให้เจ้าตูบสามารถดมกลิ่นไวรัสได้ถูกต้องแบบเกือบ 100% แม้ผู้ป่วยจะยังไม่แสดงอาการมาแล้วด้วย

 

 

อ้างอิงจากรายงานของพวกเขา สุนัขในการทดลอง เริ่มตรวจหาโรคโควิด-19 จาก ตัวอย่างปัสสาวะได้สำเร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม และในปัจจุบันมันก็สามารถแยกผู้ป่วยโรคโควิด-19 จากโมเลกุลโรคเพียง 10-100 โมเลกุลด้วย

(เทียบกับอุปกรณ์ในปัจจุบันที่ต้องมีโมเลกุลถึง 18 ล้านโมเลกุล)

นั่นหมายความว่า ในสนามบินเฮลซิงกิ สิ่งที่ผู้โดยสารจะต้องทำก็มีแค่ การนำผ้าไปเช็ดเหงื่อที่คอใส่ในกล่อง มาให้น้องหมาดมในห้องแยกเพื่อป้องกันโรคเท่านั้น

และที่สำคัญผลการตรวจสอบดังกล่าวนี้ยังสามารถบอกผลได้แทบจะในทันทีเลยด้วย

 

 

แน่นอนว่าในปัจจุบันการใช้น้องหมาดมกลิ่นโรคโควิด-19 นั้นยังคงอยู่แค่ในขั้นทดลองเท่านั้น และทางสนามบินเองก็ยังมีการใช้การตรวจสอบแบบอื่นๆ คู่ไปด้วย

แต่หากการทดลองนี้เป็นไปได้ด้วยดี ทางสนามบินก็อาจจะเพิ่มปริมาณน้องหมาที่ว่าจ้างขึ้นไปอีก และทีมนักวิทยาศาสตร์ก็อาจสามารถนำสุนัขของพวกเขาไปประจำการตามสถานที่สำคัญอื่นๆ ต่อไปได้ด้วย

 

 

ส่วนสำหรับคนที่กังวลว่าน้องหมาจะติดโรคไปด้วยไป ทางทีมวิจัยก็บอกว่าโดยพื้นฐานแล้วสุนัขจะติดโรคโควิด-19 จากมนุษย์ได้ค่อนข้างยาก

และต่อให้ติดไปจริงๆ พวกมันก็ไม่มีรายงานใดๆ ว่าสามารถแพร่เชื้อดังกล่าวกลับเข้าสู่คนได้เช่นกัน

 

ที่มา sciencealert, nytimes, boredpanda และ cnbc

Advertisement


Like it? Share with your friends!

0 Comments