เชื่อว่าตามปกติแล้ว คงจะไม่มีใครหรอกที่อยากจะโดนผึ้งต่อย เพราะเหล็กในจของแมลงชิ้นนี้ ไม่เพียงแต่จะสร้างความเจ็บปวดอย่างไม่น่าเชื่อเท่านั้น แต่มันยังอาจทำให้เกิดอาการแพ้ที่ถึงชีวิตได้
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกัน เราก็สามารถเห็นแพทย์ทางเลือกจำนวนมากเช่นกัน ที่นำผึ้งเหล่านี้มารักษาโรคร้ายต่างๆ และบางอย่างก็ดูจะได้ผลเป็นอย่างดีเสียด้วย
แต่เชื่อกันหรือไม่ว่าเจ้าผึ้งตัวเล็กๆ เหล่านี้แท้จริงแล้วอาจจะมีความสามารถในการรักษาโรค มากยิ่งกว่าที่เราเคยคิดเสียอีก เพราะเมื่อล่าสุดนี้เอง ได้มีงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ออกมาเปิดเผยว่า
โมเลกุลในพิษของผึ้งน้ำหวาน (Apis mellifera) นั้น มีคุณสมบัติถึงขั้นสามารถทำลายเซลล์มะเร็งเต้านมได้เลย อย่างน้อยๆ ก็ภายในห้องทดลอง
โดยภายในงานวิจัยชิ้นใหม่นี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Precision Oncology ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการตรวจสอบความสามารถในการฆ่าเซลล์ของพิษผึ้งน้ำหวานและพบว่า
พิษของพวกมัน สามารถทำลายเซลล์มะเร็งเต้านม ในกลุ่ม Triple-negative และกลุ่ม HER2-enriched ได้ ทั้งที่มะเร็งเต้านมทั้งสองกลุ่มนี้ที่ผ่านมาถือเป็นมะเร็งเต้านมที่รักษาได้ค่อนข้างยากเลยด้วย
อ้างอิงจากนักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยการแพทย์แฮร์รี เพอร์กินส์ ในออสเตรเลีย ดูเหมือนว่าที่พิษผึ้งน้ำหวานมีความสามารถขนาดนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าจะมาจาก สารเมลิตติน (melittin) ในตัวพิษอีกที
นั่นเพราะเมื่อนักวิทยาศาสตร์ทดลองทำการฆ่าเซลล์ตัวเดียวกันด้วยพิษจากผึ้งบัมเบิลบี (Bumble bee) ที่ไม่มีสารเมลิตติน หรือพิษจากผึ้งน้ำหวานที่มีการนำสารนี้ออกไปแล้ว
พวกเขาก็พบว่าพิษที่ไม่มีสารเมลิตติน อยู่นั้นแทบจะไม่ส่งผลใดๆ กับเซลล์มะเร็งเต้านมดังกล่าวเลย
“พิษตัวนี้มันมีฤทธิ์รุนแรงมาก” นักวิจัยทางการแพทย์ Ciara Duffy หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
“เราพบว่าเมลิทตินสามารถทำลายเยื่อหุ้มเซลล์มะเร็งได้หมดภายในเวลาแค่ 60 นาทีเท่านั้น”
ที่สำคัญความสามารถในการสังหารเซลล์มะเร็งอย่างรวดเร็วนั้น ก็ไม่ใช่ข้อดีข้อเดียวของสารเมลิตติน เสียด้วย เพราะในการทดลองเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ยังได้พบอีกว่า
เมลิทตินนั้นยังแทบจะไม่มีผลเสียต่อเซลล์ธรรมดาทั่วไปเลย แถมมันยังทำงานได้แม้ว่าตัวสารจะถูกผสมขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ผึ้งด้วย
ซึ่งมันทำให้สารพิษตัวนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่จะสามารถนำมาทำเป็นยารักษามะเร็งเต้านมในอนาคตได้ หากงานวิจัยนี้ไม่มีอะไรผิดพลาด
ดังนั้น ในปัจจุบันทีมวิทยาศาสตร์จึงตั้งเป้าหมายว่าพวกเขาจะต่อยอด และทำการทดลองเพิ่มเติม เกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารตัวนี้ต่อไปในปัจจุบัน
และหากว่าพวกเขาโชคดี ในอนาคตอันใกล้นี้เราก็อาจจะมียาต้านมะเร็งเต้านมตัวใหม่ ที่ได้ผลดีและปลอดภัยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลย
ที่มา sciencealert, nature และ foxnews
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น