CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

นักบินอวกาศไขปริศนาคาใจ พวกเขา “ปล่อยหนักปล่อยเบา” อย่างไร ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง

เมื่อเราพูดถึงชีวิตบนสถานีอวกาศที่ไร้ซึ่งแรงโน้มถ่วง เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงจะสงสัยกันไม่ใช่น้อยว่า นักบินอวกาศเขาขับถ่ายกันอย่างไรเป็นแน่

ดังนั้นเพื่อที่จะไขปริศนาที่คาอยู่ในใจข้อนี้ของหลายๆ คนเมื่อล่าสุดนี้เอง นักบินอวกาศขององค์การนาซาอย่างคุณ Chris Cassidy จึงได้ตัดสินใจที่จะออกมาตอบคำถามในจุดนี้อย่างละเอียด

และวิธีการเข้าห้องน้ำที่ออกมานั้น ก็เรียกได้ว่าแปลกใช้ได้เลยทีเดียว

 

 

อ้างอิงจากคุณ Chris ความรู้สึกปวดหนักปวดเบาของคนบนยานอวกาศนั้น จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ กับแรงโน้มถ่วงอย่างที่หลายๆ คนคิด ดังนั้นหากคุณรู้สึกอยากทำธุระคุณจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่าธุระดังกล่าวเป็นธุระหนักหรือว่าเบา

เมื่อเวลามาถึง ผู้ต้องการปลดทุกข์ จะต้องไปเข้าห้องน้ำบนสถานีอวกาศ (ในที่นี้คือสถานีอวกาศนานาชาติหรือ ISS) ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “Waste and Hygiene Compartment” หรือ WHC

 

 

โดยมันเป็นห้องแบบปิดเล็กๆ ที่มีประตูซึ่งตั้งอยู่ระหว่างทางเชื่อมระหว่างลู่วิ่งไฟฟ้าและเครื่องยกน้ำหนักของสถานี และสามารถใช้งานได้ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ทั้งในการปล่อยหนักและปล่อยเบา

แน่นอนว่าด้วยความที่ในอวกาศไม่มีน้ำหนัก ภายใน WHC นั้นจึงไม่มีชักโครกที่ต้องอาศัยน้ำในการทำงานแบบที่เราคุ้นเคยกันติดตั้งไว้

กลับกันมันจะมีอุปกรณ์คล้ายถังติดที่นั่งกับท่อคล้ายงวงช้างชื่อ “ชุดตัวประมวลผลปัสสาวะ” หรือ “UPA”  (Urine Processor Assembly) ติดตั้งไว้แทน

 

 

โดยในกรณีที่ผู้ใช้ต้องการจะปล่อยเบา พวกเขาจะต้องเปิดวาล์วที่ UPA ซึ่งจะทำให้ใบพัดดูดอากาศภายในระบบทั้งหมดทำงาน ก่อนจะทำผ่านท่อโดยตรง

ซึ่งหากทำได้ถูกต้องตัวท่อจะดูดของเหลวที่ปล่อยจากร่างกายเข้าไปในรูปแบบคล้ายเครื่องดูดฝุ่น โดยไม่ทำให้ก้อนน้ำดังกล่าวลอยไปกระทบสิ่งที่ไม่พึ่งประสงค์

 

 

ส่วนในกรณีที่ผู้ใช้ต้องการจะปล่อยหนัก สิ่งที่พวกเขาต้องทำเป็นอย่างแรกก็จะเป็นการเปิดวาล์วที่ UPA เช่นเดียวกับการปล่อยเบา

อย่างไรก็ตามแทนที่จะปลดทุกข์ลงใช่ท่อเลย ผู้ใช้ห้องน้ำ จะปลดทุกข์ลงในถังเล็กๆ ซึ่งจะมีรูดูดอากาศ ถุงแบบพิเศษและที่ให้นั่งติดตั้งไว้แทน

ก่อนที่เมื่อเสร็จธุระ ผู้ใช้ห้องน้ำจะต้องรับผิดชอบปิดปากถุง และยัดมันลงไปในรูดูดอากาศอีกที

 

 

คุณ Chris อธิบายเพิ่มเติมว่า อุปกรณ์ตัวนี้สามารถ ‘รับฝากผลงาน’ ได้ราวๆ 30 ครั้งก่อนที่จะต้องถูกเปลี่ยน ในขณะที่ปัสสาวะจะถูกนำไปรีไซเคิล ผ่านระบบของสถานีอีกที

“ในกรณีที่เกิดความผิดพลาดกับฮาร์ดแวร์ และไม่ใช่ตัวผู้ใช้ เราจะมีการ์ดที่ระบุสิ่งที่ควรจะทำไว้” คุณ Chris กล่าว “แต่ในกรณีที่มีไฟแดงขึ้น เราก็อาจต้องติดต่อกับภาคพื้นดินเพื่อหาวิธีแก้ไขเลย”

 

วิดีโอการเข้าห้องน้ำบนอวกาศแบบเต็มๆ จาก NASA Johnson

 

แน่นอนว่าระบบดังกล่าวนี้ หากมองกันตามตรงแล้วคงจะเป็นอะไรที่ดูจะไม่ยุ่งยากและไม่สะดวกเป็นอย่างมาก

มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าไหร่ที่เมื่อล่าสุดนี้ทางนาซาจึงตัดสินใจที่จะส่งห้องน้ำรูปแบบใหม่ไปให้แก่ทาง ISS แม้มันอาจจะเป็นปฏิบัติการที่ต้องใช้เงินค่อนข้างมากก็ตาม

ดังนั้น มันก็ไม่แน่เหมือนกันว่าในอนาคตการเข้าห้องน้ำในอวกาศก็อาจจะมีความสะดวกมากขึ้น ไม่มากก็น้อยเลยก็เป็นได้

 

ที่มา NASA Johnson และ futurism


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น