“เกาะเซาท์จอร์เจีย” เป็นดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ โดยในปัจจุบันมันเป็นพื้นที่ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการเป็นที่อยู่ของสัตว์นานาชนิดตั้งแต่ แมวน้ำ นกอัลบาทรอส และเพนกวิน หรือแม้แต่สัตว์น้ำอย่างวาฬ
อย่างไรก็ตามที่แห่งนี้ในอดีตเคยมีประวัติที่เรียกได้ว่าไม่ค่อยจะดีนัก นั่นเพราะที่นี่เคยเป็นแหล่งล่าวาฬขนาดใหญ่ ซึ่งคร่าชีวิตวาฬในท้องทะเลมาเป็นจำนวนมากตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 ก่อนที่จะมีกฎหมายห้ามล่าวาฬอย่างจริงจัง โดยคณะกรรมการการล่าวาฬระหว่างประเทศ เข้ามาช่วยเหลือสัตว์พวกนี้ไว้ในช่วงปี 1986
และแล้วหลังจากที่ปล่อยให้วาฬในพื้นที่ฟื้นตัวอยู่เงียบๆ เป็นเวลาร่วม 34 ปี เมื่อล่าสุดนี้เองทางทีมสำรวจแอนตาร์กติกของอังกฤษ (British Antarctic Survey) หรือ BAS ก็ได้ตัดสินใจกลับเข้าไปสำรวจประชากรวาฬในพื้นที่อีกครั้ง และนำมาซึ่งข่าวดีอย่างไม่น่าเชื่อให้กับเหล่านักอนุรักษ์
ซากที่ถูกทิ้งของ Grytviken อดีตสถานีล่าวาฬของเกาะเซาท์จอร์เจีย
นั่นเพราะจำนวนของวาฬในพื้นที่เกาะเซาท์จอร์เจียนั้น ในปัจจุบันกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ โดยที่แค่ช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา นักวิจัยก็พบวาฬหลังค่อมแหวกว่ายอยู่ในพื้นที่มากถึง 790 ตัวเลย
ตัวเลยที่ออกมานี้เมื่อนำไปร่วมกับตัวเลขประชากรที่ถูกนับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักสำรวจก็พบว่าในปัจจุบันในพื้นที่ท้องทะเลแห่งนี้ น่าจะมีวาฬหลังค่อมอาศัยอยู่อย่างต่ำๆ กว่า 20,000 ตัวแล้ว หมายความว่าที่แห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งหากินสำคัญของพวกวาฬไปแล้ว
เท่านั้นยังไม่พอนอกจากวาฬหลังค่อมแล้ว ในพื้นที่เดียวกันนักสำรวจยังมีการพบเห็นวาฬหายากอย่างวาฬสีน้ำเงินอีกถึง 55 ตัวด้วย (อ่านข่าวของวาฬสีน้ำเงินได้ที่ พบวาฬสีน้ำเงินมาเล่นบนผิวน้ำอีกครั้ง หลังถูกรายงานว่าใกล้สูญพันธ์ุมาหลายปี)
นี่นับว่าเป็นข่าวดีมากๆ สำหรับผู้รักในธรรมชาติ และเป็นสัญญาณที่ดีว่าการออกกฎหมายห้ามล่าวาฬในอดีตเป็นความคิดที่ถูกต้องสำหรับในพื้นที่นี้อย่างเห็นได้ชัด และหากเป็นแบบนี้ต่อไป วาฬในพื้นที่ก็อาจจะฟื้นฟูจำนวนขึ้นจนสมบูรณ์จากการถูกล่าในอดีตในเร็วๆ นี้เลยด้วย
แต่ถึงแม้ว่าวาฬที่เกาะเซาท์จอร์เจียจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนชวนให้ยิ้มได้ก็ตาม มันก็ไม่ได้หมายความว่าภาวะของวาฬที่อื่นๆ ในโลกจะดีขึ้นไปหมดแต่อย่างไร
เพราะในหมู่เกาะมาเรียนาเองเราก็เพิ่งจะมีข่าววาฬขึ้นมาเกยตื้นไปเป็นจำนวนมากในช่วงปีที่ผ่านมา แถมประเทศอย่างนอร์เวย์ ญี่ปุ่น และไอซ์แลนด์ก็ยังคงมีการล่าวาฬอยู่ แม้ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลเพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม
ที่มา bbc, iflscience และ bas
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น