บนเครื่องบินสูงขึ้นไปจากพื้นโลกราวๆ 30,000 ฟุต (ประมาณ 9,000 เมตร) แอร์โฮสเตสของเที่ยวบิน ได้ทำการประกาศประโยคที่ราวกับหลุมมาจากในหนัง “ผู้โดยสารท่านใดเป็นแพทย์หรือไม่?” หลังจากที่มีผู้โดยสารชายคนหนึ่งแสดงอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง
ผู้ที่ตอบรับเสียงของแอร์โฮสเตสในวันนั้น คือดอกเตอร์ Alan Hunter ศาสตราจารย์ทางการแพทย์จากมหาวิทยาลัยสุขภาพและวิทยาศาสตร์โอเรกอน โดยเขาได้เข้าไปตรวจสอบอาการของผู้โดยสารที่ป่วย และได้รับหน้าที่สำคัญที่จะตัดสินว่าเครื่องบินเที่ยวนี้ควรจะลงจอดฉุกเฉินหรือไม่
เมื่อทำการสอบถามอาการเบื้องต้นกับคนไข้ ชายคนดังกล่าวก็ตอบดอกเตอร์ Alan กลับมาว่าจู่ๆ เขาก็ปวดหัว รู้สึกเจ็บและหูอื้อ แถมยังพูดได้ไม่ชัดและน้ำลายไหลจากปากแบบควบคุมไม่ได้ ซึ่งสำหรับบนเครื่องบินแล้วเป็นเรื่องที่น่าหวาดกลัวมา แต่ดอกเตอร์ Alan กลับรู้สึกว่าสิ่งที่เขาเห็น “ไม่ใช่อาการโรคหลอดเลือดสมอง”
เหตุผลที่ดอกเตอร์ Alan คิดเช่นนั้น คือคนไข้ค่อนข้างจะยังหนุ่ม บวกกับอาการหน้าเบี้ยวของผู้ป่วยต่างไปจากอาการหน้าเบี้ยวโดยที่พบได้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และการที่เขาบอกว่าตัวเองเพิ่งหายจากไข้มาได้ไม่นาน
“ในท้ายที่สุด อาการที่ผมเห็นมันก็ทำให้รู้สึกว่านี่น่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับแรงดันอากาศมากกว่าโรคหลอดเลือดสมอง” ดอกเตอร์ Alan กล่าวในภายหลัง
ในกรณีของคนไข้คนนี้ ดอกเตอร์ Alan สงสัยว่าคนเขาอาจจะมีความผิดปกติเกี่ยวข้องกับท่อยูสเตเชียน ท่อเล็กๆที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางและคอที่มีหน้าที่ระบายน้ำหรือเมือก และปรับความดันในหูชั้นกลาง โดยมันเป็นไปได้ว่าท่อดังกล่าวจะเกิดการอุดตันด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง
ดังนั้น เพื่อที่จะแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น ดอกเตอร์ Alan จึงบอกให้คนไข้กลืนน้ำลายหลายๆ ครั้งซึ่งเป็นการกระทำที่บังคับให้ท่อยูสเตเชียนเปิด ในขณะที่ได้รับออกซิเจน ส่งผลให้คนไข้หายจากอาการที่เป็นในเวลาไม่กี่นาที ทำให้เครื่องไม่จำเป็นต้องลงจอดฉุกเฉิน
ในเวลานั้นดอกเตอร์ Alan ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองรักษาอะไรไปกันแน่ แต่หลังจากเขาศึกษาเรื่องที่ตัวเองพบเพิ่มเต็มเข้าก็พบว่า คนไข้บนเครื่องอาจจะมีอาการบาดเจ็บจากแรงกดดันบนใบหน้า (Facial barotrauma) ซึ่งตามปกติจะเกิดกับนักดำน้ำ
ซึ่งในกรณีของคนไข้คนนี้ เป็นไปได้ว่าอาการไข้หวัดที่เขาเพิ่งหายจะทำให้ท่อยูสเตเชียนทำงานได้ไม่ปกติเท่าไหร่ ดังนั้นเมื่อความดันอากาศในเครื่องบินลดลงจากการไต่ระดับความสูง ความดันในหูที่สูงกว่าข้างนอกของเขาจึงไปลดการไหลเวียนของเลือด ที่จะไปเลี้ยงเส้นประสาทใบหน้าทางด้านขวา ก่อให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น
เรื่องราวที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นกรณีศึกษาที่ค่อนข้างน่าสนใจ และอาจเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ที่ต้องเดินทางด้วยเครื่องบินหลายๆ ท่านมาก
ดังนั้นดอกเตอร์ Alan จึงได้ตัดสินใจส่งรายงานกรณีศึกษานี้ ไปยังวารสาร Annals of Internal Medicine และรายงานดังกล่าว ก็ได้รับการตีพิมพ์ไป เมื่อวันจันทร์ที่ 27 มกราคม ค.ศ. 2019 นี่เอง
ที่มา annals, livescience และ sciencealert
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น