CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

เปิดตำนาน การล่มสลายระบอบกษัตริย์อิตาลี เมื่อประชาชน โหวตให้กษัตริย์สละบัลลังก์

เมื่อกล่าวถึงประเทศอย่างอิตาลี สิ่งแรกๆ ที่เราคิดถึงก็คงจะเป็นแฟชั่น อารยธรรม ไม่ก็สถาปัตยกรรมที่งดงามมากมายหลากหลายเป็นแน่

แต่เพื่อนๆ ทราบกันหรือไม่ว่าอิตาลีนั้น ในด้านการเมืองการปกครอง ก็มีเรื่องที่น่าสนใจมากๆ อีกเรื่องอยู่เช่นกัน

เพราะพวกเขาคือประเทศที่ระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้างไป ไม่ใช่ด้วยการโค่นล้มอย่างฝรั่งเศส หรือกองทัพจัดการแบบรัสเซีย แต่เป็นการโหวตลงประชามติเสียด้วย

นี่มันเกิดอะไรขึ้นกัน ทำไมคนเป็นกษัตริย์ถึงถูกโหวตออกจากตำแหน่งได้!?

ในวันนี้เราจะไปรับชมเรื่องราวของ การล่มสลายของระบอบกษัตริย์ในประเทศอิตาลีกันครับ

 

 

สุดเริ่มต้นของการเสื่อมถอย

เรื่องราวที่นำไปสู่การล่มสลายของระบอบกษัตริย์ในอิตาลีนั้น เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1

โดยในเวลานั้น อิตาลีซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ชนะสงคราม กลับต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจหลังสงคราม ซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น เสื่อมความนิยมลงเป็นอย่างมาก

ปัญหาที่เกิดขึ้นนำไปสู่การขึ้นสู่อำนาจของ Benito Mussolini และกลุ่มฟาสซิสต์ ซึ่งมีความต้องการจะยึดครองอำนาจในอิตาลี จึงเคลื่อนพลราวๆ 30,000 คนเข้าสู่กรุงโรม

 

ในเวลานั้น กลุ่มฟาสซิสต์แม้ว่าจะมีอยู่เยอะ แต่คณะรัฐมนตรีก็เชื่อว่าพวกตนจะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้ หากมีกฎอัยการศึก ซึ่งต้องได้รับการลงนามจากกษัตริย์ Victor Emmanuel III

อย่างไรก็ตาม แทนที่กษัตริย์ Victor จะฟังคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

พระองค์กลับเลือกที่จะติดต่อไปยัง Mussolini และเชิญให้ผู้นำเผด็จการ เข้ามารับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลเสียอย่างนั้น

 

กษัตริย์ Victor Emmanuel III

 

ความผิดพลาดในสงคราม

มันมีความเป็นไปได้ว่าที่กษัตริย์ Victor เลือกเดิมพันกับ Mussolini ในเวลานั้น เพื่อป้องกันตำแหน่งและอำนาจทางการเมืองของเชื้อพระวงศ์

อย่างไรก็ตามเมื่อได้อำนาจมา Mussolini ก็ไม่ได้ภักดีหรือก้มหัวอ่อนข้อ ต่อสถาบันกษัตริย์เท่าใดนัก ทำให้ทั้งคู่มีปัญหากันอยู่บ่อยครั้ง

เท่านั้นยังไม่พอเมื่อ Mussolini นำประเทศเข้าสู่สงคราม การรบของอิตาลียังเรียกได้ว่าเลวร้ายเป็นอย่างมาก

ถึงขนาดที่ว่าในสงครามพวกเขาแทบไม่ชนะใครงเลย นอกจากประเทศอบิสซิเนียซึ่งแทบจะไม่มีกำลังรบ

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ในปี 1943 เมื่อฝ่ายอักษะเริ่มมีทีท่าจะพ่ายแพ้แก่สงคราม กษัตริย์ Victor จำเป็นต้องสั่งปลด Mussolini ที่แต่งตั้งมาเองออกจากตำแหน่ง

ก่อนจะแต่งตั้งนายพล Pietro Badoglio ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน โดยหวังที่จะรีบสงบศึกกับฝ่ายพันธมิตร

ปัญหาคือ.. ก่อนที่อิตาลีจะมีโอกาสได้ทำแบบนั้น ประเทศฝั่งเหนือของพวกเขากลับถูกบุกยึดครองโดยเยอรมนี ที่เป็นอดีตพันธมิตรเสียก่อน

แถม Mussolini ที่ถูกปลดจากตำแหน่งไป ยังกลายมาเป็นผู้ปกครองประเทศอิตาลีในฝั่งเหนืออีกด้วย

และแม้ว่าการตัดสินใจนี้จะไม่ถือว่าผิดพลาดโดยตรง แต่มันก็ทำให้ความไว้วางใจในตัวกษัตริย์ Victor ลดลงไปจากที่เคยมากอยู่ดี

 

Benito Mussolini (ขวา) และ Adolf Hitler (ซ้าย)

 

ความพยายามกู้สถานการณ์

เมื่อเวลาดำเนินมาถึงช่วงกลางปี 1944 เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญในอิตาลี กรุงโรมของพวกเขาถูกปลดปล่อยโดยฝ่ายสัมพันธมิตร

ต่อมาเมื่ออิตาลีแพ้สงคราม Mussolini ก็สิ้นอำนาจลงโดยสิ้นเชิง พร้อมกับการถูกสังหารและประจาน ในฐานะอาชญากรคนหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตามในเวลานั้น กษัตริย์ Victor ก็รู้ตัวเป็นอย่างดีว่าชื่อเสียงของตัวเขาเองก็ไม่ได้อยู่ในจุดที่ดีนัก เนื่องจากตัวเองมักถูกโทษว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้อิตาลีเข้าสู่หายนะ เพราะการยอมรับ Mussolini อย่างที่กล่าวไปตอนแรก

ดังนั้นกษัตริย์ Victor จึงตัดสินใจสละอำนาจให้กับมกุฎราชกุมาร Umberto II ไปทีละน้อย เพื่อหวังจะใช้การเปลี่ยนกษัตริย์ กู้ภาพลักษณ์ของเชื้อพระวงศ์ในประเทศแม้สักนิดก็ยังดี

แต่.. การเปลี่ยนกษัตริย์ ก็ไม่ได้ช่วยกอบกู้ภาพลักษณ์ราชวงศ์แต่อย่างใด

 

Umberto II กษัตริย์องค์สุดท้ายของอิตาลี

 

การลงประชามติ

ต่อมาในช่วงปี 1946 ประชาชนของอิตาลีซึ่งทุกทรมาน กับสภาพประเทศหลังสงครามก็เริ่มที่จะเรียกร้องให้มีการทำประชามติเลือกการปกครอง เนื่องจากพวกเขาไม่ไว้ใจการปกครองภายใต้ระบอบกษัตริย์อีกแล้ว

เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้กษัตริย์ Victor ต้องรีบสละสละราชสมบัติอย่างเต็มตัว เพื่อให้ Umberto II ขึ้นเป็นกษัตริย์โดยสมบูรณ์ เพื่อคะแนนเสียงที่ดีขึ้น

แต่ปัญหาคือการตัดสินใจนี้ดูจะช้าเกินไปเสียแล้ว

นั่นเพราะหลังจากที่ Umberto II ขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ไม่ถึงเดือน ในวันที่ 2 มิถุนายน 1946 ผลการลงประชามติ ก็ออกมาว่าคนในประเทศต้องการจะเลือกระบอบสาธารณรัฐ ด้วยคะแนนเสียงราว 54% ต่อ 46%

ซึ่งคะแนนการล้มระบบกษัตริย์นั้น โดยมากแล้วจะมาจากประชากรในทางเหนือ ซึ่งเคยถูกชาติอื่นยึดครองในช่วงสงคราม และทุกข์ทนกับความเจ็บปวดแสนสาหัส

ในขณะที่ประชากรฝั่งใต้ แม้โดยมากจะลงคะแนนสนับสนุนกษัตริย์ แต่พวกเขาก็มีประชากรน้อยกว่าอีกฝ่ายเป็นอย่างมาก

ผลการลงประชามติ แม้จะสูสีกัน แต่ฝ่ายแพ้ก็ต้องยอมรับคะแนน เปลี่ยนประเทศสู่ระบอบสาธารณรัฐ

ในท้ายที่สุด พลังจากประชามติก็ทำให้ทั้งกษัตริย์ Umberto II กษัตริย์ Victor และราชวงศ์อื่นๆ ต้องลี้ภัยไปยังต่างประเทศหลังจากนั้น ปิดฉากระบอบกษัตริย์ในอิตาลีไปโดยสมบูรณ์ไปด้วยประการฉะนี้

 

 

เรียบเรียงโดย #เหมียวศรัทธา

ที่มา destinorepublicano, britannica และ archive


Posted

in

,

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น