ไวรัสอีโบลาเป็นเชื้อไวรัสที่นำมาซึ่งโรคร้ายที่มีความรุนแรงและอันตรายถึงชีวิต ถูกพบเป็นครั้งแรกในประเทศคองโก และในปัจจุบันกำลังได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่คนทั่วโลกให้ความสนใจกันมากที่สุด
แต่แม้ว่าไวรัสนี้จะเลวร้ายแค่ไหน มันก็มีในบางกรณีเหมือนกันที่เจ้าหน้าที่ในบางประเทศจะตัดสินใจนำเข้าตัวอย่างอีโบลาด้วยความสมัครใจ
ทางรัฐบาลของประเทศญี่ปุ่นได้ออกมาประกาศการนำเข้าไวรัสอีโบลาเพื่อเตรียมการชุดวินิจฉัยโรคสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2020 ที่จะถึงนี้
อ้างอิงจากการเปิดเผยของประเทศญี่ปุ่น ในฤดูร้อนปี 2020 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะส่งผลข้างเคียงทำให้มีไวรัสมากมายแพร่ระบาดมายังญี่ปุ่นได้
ดังนั้นเพื่อที่จะป้องกันโรคระบาดที่เกิดขึ้น ที่ผ่านๆ มาทางญี่ปุ่นจึงมีการนำเข้าตัวอย่างเชื้อโรคอยู่บ่อยครั้ง แม้ว่าในช่วงปี 2019 ที่ผ่านมาทางประเทศจะไม่ได้มีการนำเข้าไวรัสสำคัญๆ มาก่อนการประกาศครั้งนี้เลยก็ตาม
โดยไวรัสอีโบลาที่มีกำหนดการนำเข้าประเทศญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายน ถูกจัดเป็นไวรัสประเภทที่มี “ระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ” ในระดับที่ 4 (BSL-4)
ซึ่งมีความเสี่ยงต่อทั้งเจ้าหน้าที่และชุมชนในระดับสูงและยังไม่มีวิธีการรักษา ทำให้ไวรัสประเภทนี้จะต้องมีการเก็บรักษาไว้ในศูนย์กักกันแบบพิเศษเท่านั้น
สำหรับประเทศญี่ปุ่น สถานที่เพียงแห่งเดียวในประเทศที่เข้าข่ายสามารถเก็บรักษา BSL-4 ได้แก่สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่น เมืองมูซาชิมูรายามะห่างจากใจกลางกรุงโตเกียว 30 กิโลเมตร
นายทาคุมิ เนโมโตะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่นกล่าว
“พวกเราต้องทำความเข้าใจในเรื่องพวกนี้ให้เป็นอย่างดี เพราะเป็นเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การป้องกันอันตรายจากไวรัสในขณะที่ประเทศเตรียมที่จะต้อนรับผู้ชมการแข่งขันกีฬาจากทั่วทุกมุมโลก”
การตัดสินใจในครั้งนี้ของรัฐบาลเองก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้รับเสียงคัดค้านเลยแต่อย่างไร เพราะในขณะที่สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติมั่นใจว่าจะควบคุมความปลอดภัยของเชื้อที่นำเข้ามาได้ ประชาชนในพื้นที่กลับแสดงท่าทางลำบากใจกับการตัดสินใจครั้งนี้มาก
สำหรับพวกเขาแล้ว มันเป็นอะไรที่ไม่สมเหตุสมผลมากที่รัฐบาลบอกให้พวกเขายอมรับแผนการนี้เพียงเพราะการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
อย่างไรก็ตามไวรัสอีโบลาที่กำลังจะมีการนำเข้ามาในประเทศ ก็มิใช่ไวรัสระดับ BSL-4 เพียงตัวเดียวที่มีอยู่ในสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติแต่อย่างไร
นั่นเพราะในสถาบันแห่งนี้ ในปัจจุบันก็มีการกักเก็บไวรัสมาร์บูร์ก ไวรัสลัสสา ไวรัสที่ทำให้เกิดไข้เลือดออกในอเมริกาใต้ และไวรัสที่ทำให้เกิดไข้เลือดออกจากไครเมีย-คองโก เอาไว้แล้วด้วย และที่ผ่านๆ มา การเก็บกักไวรัสเหล่านี้ก็แทบจะไม่มีปัญหาเล็ดลอดออกมา
ที่มา livescience, kyodonews และ nature
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น