ลึกลงไปใต้แผ่นดินออสเตรเลีย ทีมนักวิทยาศาสตร์และนักธรณีวิทยาของประเทศได้ทำการค้นพบเครือข่ายภูเขาไฟโบราณแห่งหนึ่ง ซึ่งหลับใหลอยู่ใต้ดินมาหลายล้านปี ตั้งแต่ในยุคสมัยจูราสสิก
ภูเขาไฟที่ถูกพบนั้น ถูกรายงานว่ามีอยู่ด้วยกันราวๆ 100 แห่ง โดยมีอายุตั้งแต่ 160-180 ล้านปี และครอบคลุมพื้นที่กว่า 7,500 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่ Eromanga basin และ Cooper basin อันเป็นพื้นที่ทะเลทรายในตอนกลางของทวีป และมีชื่อเสียงเรื่องน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
หลักฐานของเครือข่ายภูเขาไฟโบราณในครั้งนี้ ถูกพบครั้งแรกเมื่อราวๆ 30 ปีก่อน ในสภาพของหินที่เกิดจากลาวาเย็นตัวจากยุคจูราสสิกและข้อมูลสภาพธรณีใต้ดิน ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกที
Cooper basin ซึ่งพาดผ่านทะเลทรายในออสเตรเลีย
แต่แม้ว่าข้อมูลในจุดนี้จะถูกพบมานานมากแล้ว กว่าที่ทีมนักวิทยาศาสตร์จะให้ความสนใจข้อมูลดังกล่าวจนนำไปสู่การค้นพบในครั้งนี้ มันก็เมื่อไม่นานมานี้เท่านั้น
พวกเขาอาศัยเทคโนโลยีการถ่ายภาพใต้ผิวดินอย่าง เทคนิคการถ่ายภาพโดยอาศัยแรงสะท้อนของแผ่นดินไหวในการประเมินคุณสมบัติทางกายภาพในชั้นหินที่พบ ซึ่งเทคนิคนี้เองก็นำพวกเขาไปสู่การค้นพบแมกมาซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเชื้อเพลิงของภูเขาไฟมาก่อน ช่องทางของการไหลของลาวาโบราณ และปล่องภูเขาไฟจากยุคจูราสสิกในที่สุด
อ้างอิงจากคุณ Simon Holford รองศาสตราจารย์ด้านธรณีศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแอดิเลดหนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์
จริงอยู่ว่าภูเขาไฟที่พวกเขาพบนั้นน่าจะเคยเป็นภูเขาไฟที่มีพลังและระเบิดค่อนข้างถี่ในช่วงยุคจูราสสิกมาก่อน แต่ในปัจจุบันภูเขาไฟเหล่านี้ก็ได้สงบลงไปเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าในพื้นที่จะมีร่องรอยการระเบิดของภูเขาไฟครั้งล่าสุดราวๆ 5,000 ปีก่อนก็ตาม
ก็นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะพบชั้นหินที่เก่าแก่ขนาดนี้ก็ตาม แต่ในภูเขาไฟโบราณเหล่านี้ก็ไม่ได้มีร่องรอยใดๆ ของฟอสซิลไดโนเสาร์เลย อย่างน้อยๆ ก็จากการสำรวจในปัจจุบัน
ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมภูเขาไฟเหล่านี้ถึงถูกฝังลงมาอยู่ใต้ดินได้นั้น นักธรณีวิทยาคาดว่าน่าจะมาจากการที่ภูเขาไฟเหล่านี้ค่อยๆ ถูกตะกอนทับถมไปเรื่อยๆ ตลอดช่วงเวลา 160 ล้านปี แม้ว่าพวกเขาจะยังไม่อาจฟันธงได้ว่าเพราะเหตุใดในพื้นที่จึงมีตะกอนทับถมกันได้มากขนาดนี้ก็ตาม
ทั้งนี้เองงานวิจัยชิ้นนี้ได้ถูกตีพิมพ์ไปในวารสาร Gondwana Research เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา และทางนักวิทยาศาสตร์เองก็คาดว่าใต้ดินประเทศออสเตรเลียนั้น ยังอาจจะมีเครือข่ายภูเขาไฟแทนนี้ฝังอยู่อีกมากเลยด้วย
ที่มา livescience, iflscience และ sciencedaily
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น