CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

ย้อนรอย “เลโอ เมเจอร์” วีรบุรุษคาดที่ปิดตา ปลดปล่อยเมืองทั้งเมืองจากนาซีด้วยตัวคนเดียว

เพื่อนๆ เคยได้ยินเรื่องราวของทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่มีชื่อว่า “เลโอ เมเจอร์” (Léo Major) กันมาก่อนไหม นี่คือทหารตาเดียวเจ้าของผลงานจับกุมทหารนาซีกว่า 90 คน และปลดปล่อยเมืองทั้งเมือง แถมยังทำวีรกรรมเหล่านี้ ด้วยตัวคนเดียวเสียด้วย!?

 

 

ชีวิตก่อนสงคราม

เลโอ เมเจอร์ เกิดเมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1921 ในฐานะเด็กลูกครึ่งฝรั่งเศส-แคนาดา ภายในครอบครัวที่เดินทางไปอาศัยอยู่ที่มอนทรีออลของแคนาดา ตั้งแต่ตอนที่เขายังอายุไม่ถึง 1 ขวบดี

ในตอนที่เขาอายุได้เพียง 14 ปี เลโอก็ต้องย้ายออกจากบ้านไปอาศัยอยู่กับญาติๆ เนื่องจากเขามีปัญหารุนแรงกับผู้เป็นพ่อ ซึ่งเหตุผลนี้บวกกับงานที่หายากในประเทศก็ทำให้เลโอตัดสินใจที่จะเข้าร่วมกองทัพในปี 1940

 

 

D-Day และการเสียดวงตา

เรื่องราวของเลโอ ในสงครามโลก เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 6 มิถุนายน 1944 เมื่อเขาและเพื่อนทหารแคนาดาบุกขึ้นฝั่งที่ฝรั่งเศส ในเหตุการณ์ที่เรารู้จักกันในนาม D-Day

ที่นั่นเลโอได้รับหน้าที่เป็นแนวหน้าหน่วยสำรวจ และสร้างผลงานที่โดดเด่นเป็นครั้งแรกด้วยการบุกยึดรถหุ้มเกราะของเยอรมันด้วยตัวคนเดียว ในระหว่างที่เข้าไปสำรวจพื้นที่แดนข้าศึก และบังคับให้คนขับรถที่เป็นทหารนาซี ขับรถกลับไปยังฐานทัพ

หลายวันหลังจากนั้น ระหว่างที่เลโอกำลังทำภารกิจเข้าไปสำรวจพื้นที่แดนข้าศึกอีกครั้ง เขาก็ได้ถูกพบโดยหน่วยทหารของนาซี ซึ่งนำไปสู่การยิงต่อสู้ที่เลโอเสียเปรียบเอามากๆ

ในเวลานั้น เลโอได้ทำการยิงสังหารทหารนาซีไปได้ 4 ราย ก่อนที่หนึ่งในทหารที่บาดเจ็บจะทำการโยนระเบิด (บางแหล่งข้อมูลบอกว่าเป็นระเบิดฟอสฟอรัส) ใส่เลโอ ส่งผลให้ดวงตาข้างซ้ายของเลโอบอดสนิท

อาการบาดเจ็บในรูปแบบนี้ มากพอที่จะทำให้ทหารธรรมดาสามารถปลดประจำการจากการเป็นทหารได้ไม่ยาก แต่แทนที่จะกลับประเทศ เลโอกลับยืนยันที่จะอยู่ในสงครามต่อไป เพราะเขา “ยังมีดวงตาที่ยังดีอีกดวง และยังคงสามารถยิงปืนได้”

 

 

จับทหารเยอรมัน 93 นาย

หลังจากที่ตาบอดไปหนึ่งข้าง เลโอก็เริ่มต่อสู้โดยใส่ผ้าปิดตาข้างหนึ่ง ในสภาพที่คล้ายๆ กับโจรสลัดไม่มีผิด โดยเขาเข้ารวมศึกมากมายในระหว่างการบุกจากฝรั่งเศสไปยังเนเธอร์แลนด์ จนกระทั่งในวันหนึ่ง เข้าได้รับคำสั่งให้ไปตามหา ทหารเกณฑ์ของแคนาดาที่หายไประหว่างการลาดตระเวน

เขาตัดสินใจทำภารกิจนี้ด้วยคนเดียว และออกเดินทางไปหลังแดนข้าศึกในค่ำคืนที่ทั้งมืด หนาว และมีฝนตก แต่แทนที่จะพบกับทหารที่หายไป เขากลับได้พบกับทหารนาซีกองหนึ่งซึ่งกำลังนอนหลับในหลุมเพาะที่เพิ่งขุดแทน

เพื่อไม่ให้โอกาสหลุดมือไป เลโอได้ปลุกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทหารด้วยการเอาปืนจ่อหน้า และบังคับให้เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวสั่งกองทหารให้ตามเขากลับค่าย

แน่นอนว่าในตอนแรกทหารนาซีบางส่วนได้พยายามต่อต้านเลโอ แต่หลังจากทหาร 4 คน โดนเลโอยิงสังหาร สุดท้ายทหารนาซีที่เหลือจึงยอมตามเขากลับค่ายอย่างสงบ

ในระหว่างทาง เลโอถูกดักโจมตีโดยหน่วย SS ซึ่งโมโหที่ทหารเยอรมันยอมแพ้ให้กับคนคนเดียว ส่งผลให้เชลยเยอรมันจำนวนมากต้องเสียชีวิตไป ก่อนที่รถถังของฝ่ายสัมพันธมิตรจะมาถึง ช่วยชีวิตทหารที่เชลยที่เหลือ 93 คนและตัวเลโอเอาไว้

 

เชลยสงครามชาวเยอรมันที่ถูกจับในการรบที่สเกลต์ การรบที่เลโอสร้างผลงานจับเชลย 93 คน

 

เลโอ ปฏิเสธเหรียญรางวัลและการปลดประจำการครั้งที่สอง

ผลงานการควบคุมตัวทหารเยอรมันด้วยตัวคนเดียวของเลโอ ไม่ใช่อะไรที่ทางกองทัพจะสามารถมองข้ามไปได้ ดังนั้นเลโอจึงได้ถูกเสนอชื่อให้รับรางวัลเหรียญ “Distinguished Conduct Medal” ซึ่งเป็นเหรียญตราลำดับสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ซึ่งอังกฤษเครือจักรภพจะสามารถมอบให้ทหารได้

แต่แทนที่เลโอจะยอมรับเหรียญรางวัลอันนี้ เขากลับทำให้คนทั้งกองทัพต้องตกใจด้วยการปฏิเสธเหรียญรางวัลดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่านายพลของอังกฤษผู้ซึ่งจะมอบเหรียญรางวัลให้แก่เขานั้น “ไร้ความสามารถ”

ต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ 1945 หน่วยในระหว่างที่หน่วยของเลโอทำการต่อสู้อยู่ในเยอรมนี ยานพาหนะของพวกเขาก็โชคร้ายแล่นผ่านกับระเบิด ส่งผลให้ทหารทุกคนยกเว้นเลโอเสียชีวิต

แม้ว่าเลโอจะรอดจากเหตุการณ์ในครั้งนี้มาได้แต่เขาก็ต้องบาดเจ็บหนักจากแรงระเบิด ซึ่งรวมไปถึงอาการหัวเข่าสองข้าง ซี่โครง 4 ซี่ และกระดูกหลัง 3 แห่งหัก แต่ถึงอย่างนั้นเจ้าตัวก็ยังคงไม่ยอมที่จะถูกส่งตัวกลับ และฟื้นตัวในโรงพยาบาลทันการบุกปลดปล่อยเนเธอร์แลนด์แบบพอดิบพอดี

 

เลโอและเพื่อนๆ ในหน่วย

 

เลโอ สูญเสียเพื่อน

ภายในการภารกิจที่เนเธอร์แลนด์ กองกำลังฝั่งสัมพันธมิตรได้วางแผนที่จะเข้าปลดปล่อยเมืองขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า “ซโวลเลอ” (Zwolle) อย่างไรก็ตามในเวลานั้นพวกเขาไม่มีข้อมูลเลยว่าฝ่ายเยอรมันมีกำลังทหารมากน้อยแค่ไหนประจำการอยู่ในเมือง

ดังนั้น เพื่อที่จะยืนยันให้มั่นใจ เลโอและเพื่อนของเขาจึงถูกส่งตัวเข้าไปสำรวจเมือง ในขณะที่ทางกองทัพวางแผนที่จะยิงถล่มเมืองด้วยปืนใหญ่ ในกรณีที่ทั้งสองไม่สามารถรายงานขนาดกองกำลังของนาซีได้

ในตอนที่เข้าไปใกล้พื้นที่ของเมือง เพื่อนของเลโอได้ถูกพบตัวโดยทหารนาซีจากการที่กระเป๋าระเบิดของเขาส่งเสียงกุกกัก ส่งผลให้ทหารคนดังกล่าวถูกสังหารด้วยปืนกลแทบจะในทันที

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เลโอโมโหเอามาก เขาสังหารทหาร 2 นายที่คุมปืนทิ้ง (ทหารนายอื่นๆ หนีเข้าเมืองไปด้วยรถ) ก่อนที่จะหยิบปืนกลเบาและระเบิดของเพื่อนที่ตายไป จี้รถของทหารเยอรมันใกล้ๆ เพื่อเอาพาหนะกับปืนกลอีกกระบอก และตัดสินใจเข้าเผชิญหน้ากับทหารนาซีทั้งเมืองด้วยตัวคนเดียว

 

ฟาร์มที่เลโอหยุดพักก่อนการปลดปล่อยเมืองซโวลเลอ

 

การปลดปล่อยเมืองด้วยตัวคนเดียว

สิ่งแรกที่เลโอทำในเวลานั้น คือการบังคับให้ทหารเยอรมันขับรถพาเขาไปส่งโรงแรมที่มีนายทหารระดับสูงของนาซีอยู่ โดยเขาได้เข้าต่อรองกับนายทหารในภาษาฝรั่งเศสให้ถอนกำลัง เนื่องจากเมืองกำลังจะถูกถล่ม

นายทหารคนดังกล่าวตัดสินใจฟังคำบอกเล่าของเลโอและขับรถจากไป โดยที่เขาได้แต่หวังว่าทหารระดับสูงคนนั้น จะถอนกำลังจากเมืองจริงๆ

อย่างไรก็ตามเขามั่นใจว่าทหารระดับสูงเพียงคนเดียวคงจะถอนกำลังนาซีออกไปได้ไม่หมดเป็นแน่ ดังนั้นเลโอซึ่งพกปืนกลสามกระบอก จึงได้ตัดสินใจออกตระเวนไปรอบเมืองเพื่อยิงกราดใส่ทหารเยอรมันทุกหน่วยที่พบ ในขณะที่ปาระเบิด ทำเสียงดัง และก่อความโกลาหลให้มากที่สุดไปด้วย

เป้าหมายของเลโอในเวลานั้น คือการทำให้ศัตรูของเขาสับสน จนเข้าใจผิดว่าตัวเองกำลังต่อสู้กับศัตรูที่มีจำนวนมากกว่าความเป็นจริงอยู่ ดังนั้นนอกจากการก่อความวุ่นวายในเมือง เลโอยังได้ทำการเผาอาคารที่นาซีใช้งาน และบุกเข้าไปโจมตีสำนักงานของหน่วย SS ด้วย

ในระหว่างการต่อสู้ด้วยตัวคนเดียวนี้เอง หากเขาจับศัตรูได้ตั้งแต่ 8-10 คน เขาก็จะควบคุมตัวทหารที่จับได้กลับไปส่งให้กองทัพ ก่อนที่จะกลับเข้าไปต่อสู้ในเมืองต่อ (เจ้าตัวเล่าในภายหลังว่าเขาทำแบบนี้อยู่ราวๆ 10 ครั้ง)

ไม่นานหลังจากที่เลโอออก “อาละวาด” ในเมืองตามลำพัง เขาก็ได้ได้มีโอกาสพบกับกลุ่มชาวเมืองเข้าโดยบังเอิญ ซึ่งในบรรดาชาวเมืองที่เขาพบก็มีสมาชิกลับของฝ่ายต่อต้านชาวดัตช์อยู่ด้วย

เมื่อพวกเขาได้ยินเรื่องราวการปลดปล่อยเมืองของเลโอ ฝ่ายต่อต้านในเมืองก็ตัดสินใจที่จะรวบรวมคนเข้ายึดศาลากลางเมืองคืนหลังจากนั้น ซึ่งทำให้ในเวลาราวๆ ตี 4 ครึ่ง ทหารนาซีก็ได้ทำการถอนกำลังจากเมืองไปจนหมด

และในช่วงเช้าวันเดียวกันนั้นเอง ทหารพันธมิตรก็สามารถเดินทัพเข้าไปในเมืองได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องยิงปืนใหญ่ถล่มเมืองอย่างที่วางแผนเอาไว้เลย

 

เลโอกับเจ้าหน้าที่และเด็กๆ ในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากการปลดปล่อยซโวลเลอ

 

เรื่องราวหลังจากนั้น

ผลงานสุดเหลือเชื่อของเลโอ ทำให้เขาถูกเสนอให้รับเหรียญ Distinguished Conduct Medal อีกครั้ง และในครั้งนี้ เขาก็ตัดสินใจที่จะรับเหรียญดังกล่าวเอาไว้

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองจบลงเลโอได้ออกจากกองทัพและกลับไปทำงานในฐานะพลเรือนอยู่ช่วงหนึ่ง แต่เมื่อสงครามเกาหลีเริ่มขึ้น เขาก็ไม่ลังเลเลยที่จะกลับเข้าสู่กองทัพอีกครั้ง ซึ่งในคราวนี้ เขาได้เป็นหน่วยซุ่มยิงและสอดแนมพิเศษ ภายในการรบที่เกาหลีใต้

 

เหรียญรางวัลทั้งหมดของเลโอ

 

 

วีรกรรมในสงครามเกาหลี

ในเดือนพฤศจิกายน 1951 หน่วยของเลโอได้เข้าปะทะกับกองทัพคอมมิวนิสต์ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่พื้นที่เนินเขาสูงราวๆ 60 กิโลเมตรจากกรุงโซล

ที่นั่นทหารของประเทศจีนได้ทำการบุกยึดจุดยุทธศาสตร์จากสหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อย และภารกิจของเลโอ ก็คือการยึดเนินคืนและรักษาเนินเอาไว้ในการควบคุมของ NATO ให้ได้

การรบในครั้งนี้ กินเวลาหลายวันมาก และกองกำลังของเลโอก็ต้องต่อกรกับทหารคอมมิวนิสต์อย่างต่อเนื่อง ในระหว่างที่พื้นที่ถูกยิงถล่มด้วยปืนใหญ่ตลอดช่วงเวลา 3 วันติดต่อกัน

เขาได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังได้ แต่ก็ปฏิเสธที่จะทิ้งพื้นที่สำคัญแห่งนี้ไป กลับกันเขาขอให้ผู้บังคับบัญชาทหารปืนครก ถล่มใส่ศัตรูในระยะที่ใกล้เคียงกับตำแหน่งของเขา ถึงขนาดที่ “เสียงระเบิดจากกระสุน สามารถได้ยินผ่านวิทยุในขณะที่เลโอพูด”

 

เลโอในสงครามเกาหลี

 

สิ้นสุดตำนาน

เลโอสามารถรักษาเนินจุดยุทธศาสตร์ในเวลานั้น รอดชีวิตมาจากสงครามเกาหลีอย่างไม่น่าเชื่อ ส่งผลให้เขาถูกเสนอให้รับรางวัล Distinguished Conduct Medal เป็นครั้งที่สามของชีวิต และการรับเหรียญในวันนั้นก็ทำให้เขากลายเป็นทหารแคนาดาเพียงคนเดียว ที่ได้รับเหรียญรางวัลนี้ จากสงครามที่ต่างกัน 2 สงคราม

 

เลโอและลูกหลาน ในช่วงเวลาปั้นปลายของชีวิต

 

และเมื่อสงครามสงครามเกาหลีจบลง เลโอก็ได้ออกจากกองทัพมาใช้ชีวิตอย่างสงบอีกครั้ง ก่อนที่จะจากโลกใบนี้ไปในปี 2008 ด้วยวัย 87 ปี ทิ้งไว้ซึ่งชื่อที่ถูกจารึกไว้ในเมืองซโวลเลอสืบไป

 

 

รวบรวมและเรียบเรียงโดย #เหมียวศรัทธา

ขอขอบคุณข้อมูลจาก allthatsinteresting, britannica, warhistoryonline และ Simple History


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น