CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

เรื่องจริงสุดสะพรึงของ “Lydia Fairchild” หญิงสาวผู้เกิดมาพร้อม 2 DNA จากการ “กลืน” แฝดของตัวเอง

หญิงสาวสุดช็อก หลังค้นพบว่าลูกๆ ที่เธอให้กำเนิด แท้จริงแล้วเป็นลูกของฝาแฝดที่แฝงอยู่ในร่างของเธอเอง

นี่คือพาดหัวข่าวปี 2006 ที่กลายเป็น Talk of the town ชั่วข้ามคืน จนทำให้เรื่องราวของ “Lydia Fairchild” กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

 

 

ย้อนกลับไปเมื่อ Lydia Fairchild อายุได้ 26 ปี เธอเพิ่งให้กำเนิดลูก 3 คน แต่เพราะภาวะตกงานทำให้ต้องยื่นเรื่องเพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐวอชิงตัน ซึ่งในขั้นตอนหนึ่งเธอจำเป็นต้องตรวจ DNA เพื่อพิสูจน์ความเป็นแม่ของเด็กๆ

เรื่องราวที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรผิดปกติ มาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์เรียก Lydia เข้าพบโดยด่วนเพื่อ “สอบปากคำ” เนื่องจากสงสัยว่าเธอกำลังก่ออาชญากรรม

เขาแจ้งให้เธอทราบว่าเด็กๆ ทั้งสามคนเป็นลูกของแฟนเธอทั้งหมดตามที่แจ้งมา เว้นแต่ว่า “เธอไม่ใช่แม่ของพวกเขา”

เรื่องนี้สร้างความงุนงงให้กับทุกฝ่ายโดยเฉพาะตัว Lydia เอง เธอคิดว่าต้องมีอะไรผิดพลาด แต่หนึ่งในนักสังคมสงเคราะห์บอกกับเธอว่า “DNA เชื่อถือได้ 100% และมันไม่โกหก”

 

 

Lydia ไม่เพียงถูกปฏิเสธความช่วยเหลือสำหรับค่าเลี้ยงดูบุตรจากรัฐบาล แต่ยังถูกสงสัยว่าทำการฉ้อโกงสวัสดิการรัฐ ทั้งยังเสี่ยงที่จะถูกพรากลูกๆ ไปเพราะพวกเขาไม่เชื่อว่าเธอคือแม่ตัวจริง

“พวกเขาบอกฉันว่า คุณรู้ไหม เราสามารถมารับลูกคุณไปได้ทุกเมื่อเลยนะ” Lydia กล่าว

ความกังวลในเรื่องนี้ทำให้เธอเริ่มตื่นตระหนก หญิงสาวรีบกลับบ้าน ค้นหาภาพถ่ายขณะตั้งครรภ์และสูติบัตรของลูกๆ เพื่อนำไปยืนยันกับทางการอีกครั้ง พร้อมขอร้องให้ทางครอบครัวรวมถึง Leonard Dreisbach สูติแพทย์ที่ทำคลอดให้เธอมาร่วมรับรองในศาล ซึ่งทุกคนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

“ฉันจะรับรองให้อย่างแน่นอนว่าเด็กๆ เป็นลูกของเธอ ไม่รู้หรอกนะว่ามีอะไรผิดปกติกับการตรวจ DNA แต่เธอคลอดลูกเองอย่างแน่นอน” คุณหมอ Dreisbach กล่าว

 

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีพยานบุคคล แต่เรื่องนี้กลับจบลงไม่ง่ายนัก เมื่อศาลเชื่อในผล DNA มากกว่า และเพื่อป้องกันความผิดพลาด พวกเขาจึงสั่งให้เธอตรวจ DNA ใหม่อีกครั้งจากลูกคนที่สี่ซึ่งพึ่งจะคลอดออกมา แต่ผลลัพธ์กลับเหมือนเดิม….นั่นคือเธอไม่ใช่แม่ของเด็ก

ในการต่อสู้เพื่อหาความจริง ศาลให้เธอหาทนายเพื่อช่วยแก้ต่างในคดีนี้ ซึ่ง อัยการ Alan Tindell ตกลงรับว่าความให้เธอหลังจากที่ไม่มีใครอยากรับงานที่ดูเหมือนจะแพ้โต้งๆ

“นี่ไม่ใช่ลูกของพี่สาวหรือน้องสาวคุณเหรอ? ไม่ใช่ลูกของญาติคนอื่นใช่ไหม? คุณลักพาตัวเด็กพวกนี้มาจากใครหรือเปล่า?”

นี่คือคำถามที่อัยการเฝ้าถามเธอ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ Lydia ยืนกรานในคำตอบ รวมกับคำรับรองจากแพทย์และครอบครัว เขาจึงตัดสินใจที่จะเชื่อลูกความของตัวเอง แม้ทุกอย่างจะดูขัดแย้งกันจากผล DNA ก็ตาม

Lydia ต้องเผชิญกับความลำบากเมื่อรัฐคิดว่าเธอเป็นนักต้มตุ๋น เธอร้องไห้อย่างหนัก และผวากับเสียงเคาะประตูทุกครั้งเพราะกลัวว่าจะมีเจ้าหน้าที่มารับตัวลูกๆ ของเธอไป

 

 

และแล้วก็มาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อทีมอัยการค้นคว้าประวัติทางการแพทย์ และพบเรื่องราวในบอสตัน ปี 1998 ของ Karen Keegan ผู้หญิงอีกคนหนึ่งซึ่งมี DNA ไม่ตรงกับลูกของตัวเอง

บันทึกการรักษาของ Karen นำไปสู่ความกระจ่างทางการแพทย์ สิ่งที่พวกเขาพบคือ “ภาวะแฝดกลืนแฝด” หรือที่เรียกว่า “ไคมีรา” (chimerism) ซึ่งเป็นอาการที่หายาก มีการบันทึกไว้ว่าเคยพบแค่ 30 ครั้งจากคนทั่วโลก

ในทางชีววิทยา ภาวะไคมีราเกิดจากการที่เซลล์แฝดกลืนกินอีกฝ่ายในขณะตั้งครรภ์ก่อนพัฒนาเป็นทารก ทำให้เด็กที่เกิดมามี DNA 2 ชุดในร่างเดียว

กล่าวคือ แม้จะมองไม่เห็น แต่คนที่เป็นไคมีราจะมีฝาแฝดแฝงอยู่ในร่างของตัวเองในลักษณะของ DNA ที่ถูกซุกซ่อนไว้

 

 

หลังจากเรื่องนี้แพร่ออกไป ศาลสั่งให้มีการตรวจสอบกรณีของ Lydia Fairchild ใหม่อีกครั้ง โดยนำ DNA ของเธอมาตรวจอย่างละเอียด ก่อนจะพบเรื่องจริงที่น่าตกใจว่าเธอเองก็เป็นไคมีราด้วยเช่นกัน โดยเซลล์ฝาแฝดของเธอคือ DNA ที่ลูกๆ ของเธอได้รับไปนั่นเอง

หลังจากทดสอบเสร็จสิ้น ศาลได้สั่งยกฟ้องในคดีนี้และทำให้ Lydia ได้รับการยืนยันว่าเป็นแม่ของลูกทั้งสามคนจริงๆ

เรื่องนี้ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย บางคนมองว่า DNA ควรเป็นตัวช่วยทางชีววิทยาที่ช่วยในการสืบสวนคดี แต่ในกรณีของไคมีราที่มีลักษณะทางพันธุกรรม 2 ชุด มันกลับน่าตกใจยิ่งกว่าพล็อตหนังสยองขวัญ

ในขณะที่อีกหลายคนรู้สึกเห็นใจในการต่อสู้เพื่อครอบครัวของหญิงสาวผู้เกือบตกเป็นเหยื่อของความไม่รู้

เพราะหากไม่มีการค้นพบกรณีที่คล้ายกัน หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ล้าสมัยมากกว่านั้นสักเล็กน้อย หญิงสาวคนนี้อาจต้องสูญเสียครอบครัวไปตลอดกาล

 

ที่มา: businessinsider , abcnews


Posted

in

,

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น