นักวิทย์ประสบความสำเร็จ ฝึก AI เปลี่ยนคลื่นสมองเป็นตัวหนังสือ แม่นยำสุดถึง 97%


มันเป็นเรื่องที่เราทราบกันว่าความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์นั้น ทุกวันนี้มีแต่จะก้าวไกลขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งทำให้จนถึงในปัจจุบัน มนุษย์เราสามารถสร้างเครื่องมือที่ในอดีตเราเคยเชื่อกันว่าไม่มีอยู่จริง ขึ้นมาได้หลายต่อหลายชิ้น

และเมื่อล่าสุดนี้เอง วงการนักวิทยาศาสตร์ก็สามารถทำสิ่งที่เราเคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นจริงขึ้นมาอีกครั้งแล้ว หลังจากที่ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้มีการออกมาเปิดเผยในวารสาร Nature Neuroscience ว่า

พวกเขาประสบความสำเร็จในการฝึกเครื่องมือที่จะช่วยเปลี่ยนคลื่นสมองของเราให้เป็นประโยคตัวหนังสือ จนมีความเที่ยงตรงสูงสุดถึง 97% แล้ว

 

 

อ้างอิงจากข้อมูลของสื่อต่างประเทศ อุปกรณ์แปลงคลื่นสมองให้เป็นข้อความหรือคำพูดนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการวิทยาศาสตร์นัก เพียงแต่ที่ผ่านๆ มาอุปกรณ์เหล่านี้มักจะมีปัญหาในด้านความแม่นยำของคำเท่านั้น

และนั่นก็เป็นสิ่งที่คุณ Joseph Makin นักเขียนหลักของงานวิจัยในครั้งนี้พยายามที่จะแก้ไขให้ได้ โดยเขาและทีมงานนั้น ได้ปรับปรุงระบบอุปกรณ์ในอดีตโดยอาศัยการฝึกฝนระบบแมชชีนเลิร์นนิ่งที่ใช้ในการถอดรหัส ภายใต้แนวคิดที่ว่าการทำงานของการแปลงคลื่นสมองนั้น น่าจะคล้ายกับที่ AI ใช้ในการแปลภาษา

กล่าวคือแทนที่จะให้ ระบบเรียนรู้คำเป็นคำๆ อย่างที่เคยทำ มันจะเป็นการดีกว่าที่พวกเขาจะให้ ระบบถอดรหัสจากคลื่นสมองผ่านประโยคไปเลย

 

 

ดังนั้น นักวิจัยจึงเลือกที่จะให้อาสาสมัครที่เป็นมนุษย์ 4 คนในการอ่านประโยคต่างๆ 30-50 ประโยค ที่มีคำเฉพาะร่วม 1,800 คำโดยทำการบันทึกคลื่นสมองไปด้วย ก่อนที่พวกเขาจะนำข้อมูลทั้งหมดมาให้ระบบเรียนรู้ซ้ำไปซ้ำมาอีกที

เมื่อขั้นตอนการเรียนรู้จบลงนักวิจัยก็พบว่าเครื่องมือที่พวกเขาได้มานั้นจะสามารถแปลงคลื่นสมองเป็นประโยคได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

โดยในกรณีที่ดีที่สุดระบบจะสามารถแปลประโยคทั้งประโยคได้โดยมีคำที่ผิดเพียงแค่ 3% เท่านั้น แม้ว่าตัวเครื่องจะยังมีข้อจำกัดที่ว่ามันสามารถแปลประโยคได้แค่ครั้งละ 30-50 ประโยคก็ตาม และในบางกรณีก็แปลประโยคผิดไปแบบเห็นได้ชัดเลยก็ตาม

 

ตัวอย่างการเปรียบเทียบประโยคที่นักวิจัยใช้ (ซ้าย) กับผลการแปลงคลื่นสมอง “ที่ผิด” ของ AI (ขวา)

 

แถมดูเหมือนว่าแนวคิดของทีมวิจัยจะถูกต้องด้วย เพราะระบบของพวกเขาจะมีความสามารถในการแปลประโยคที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ตามความยาวของประโยคที่มันได้มา แม้ประโยคที่ใช้จะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องในด้านความหมายเลย

ซึ่งความสามารถในจุดนี้เองก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่การแปลงประโยคของเครื่องมือที่พวกเขาใช้นั้น ไม่ได้อาศัยเพียงแค่รูปประโยคในการกำหนดคำเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยการเรียนรู้อื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นหลักฐานอย่างดีที่ว่ามันอาจจะสามารถทำงานได้ในระดับหนึ่งเลย แม้กับคำที่มันไม่เคยถูกสอนมาก่อน

 

ที่มา bbc, popularmechanics และ nature 

Advertisement


Like it? Share with your friends!

0 Comments