CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

เกิดอะไรขึ้นที่มาลี!? ไล่รัฐบาล ทหารเข้ายึดอำนาจ สัญญาจะคืนประชาธิปไตยอีกไม่นาน

ในเช้าวันที่ 19 สิงหาคม 2020 ตามวันเวลาท้องถิ่น สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศมาลี บริเวณภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก

 

กลุ่มทหารคณะกรรมการปลดปล่อยประชาชนแห่งชาติ

 

หลังจากที่ประธานาธิบดี Ibrahim Boubacar Keita ถูกกลุ่มทหารในนาม “คณะกรรมการปลดปล่อยประชาชนแห่งชาติ” (National Committee for the Salvation of the People) ทำการบุกเข้าควบคุมตัวจากบ้านพัก

รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และรัฐมนตรีอีกหลายคน และต่อมาก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งและประกาศยุบสภาแห่งชาติ “เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด”

 

Ibrahim Boubacar Keita ประธานาธิบดีมาลี ประกาศลาออกหลังถูกยึดอำนาจ

 

การแถลงยึดอำนาจรัฐประหารในครั้งนี้ ทางผู้นำคณะรัฐประหารกล่าวว่า มีความจำเป็นจะต้องทำเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

และให้คำมั่นสัญญาว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านการเมืองให้สำเร็จเรียบร้อยและราบรื่น ก่อนจะมีการจัดเลือกตั้งภายในระยเวลาที่เห็นควรว่าเหมาะสม

 

 

สิ่งที่นำพาไปสู่การทำรัฐประหาร

การรัฐประหารในประเทศมาลีครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น แต่เกิดขึ้นหลังจากที่มีการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลของประชาชนในประเทศที่กินระยะเวลามานานร่วมหลายเดือน

 

 

ความไม่พอใจของผู้ประท้วงที่มีต่อรัฐบาลของประธานาธิบดี Ibrahim Boubacar Keita นั้นระบุว่าไม่มีความโปร่งใส มีการกระทำทุจริตคอร์รัปชั่น

และไม่สามารถแก้ไขปัญหาความมั่นคงของประเทศได้ จากการที่มีกลุ่มกบฏและกลุ่มก่อการร้ายขยายตัวภายในประเทศ

 

 

ความไม่พอใจที่ก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง ก็ยิ่งทำให้มีการเรียกร้องให้กองทัพออกมาแก้ไขสถานการณ์ทางการเมืองที่มาถึงทางตัน

ทั้งผู้ชุมนุมประท้วงและแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านต่างๆ อ้างว่านี่ไม่ใช่การรัฐประหารแต่เป็นการลุกฮือขึ้นต่อสู้ของประชาชน

 

 

ในส่วนของคณะกรรมการปลดปล่อยประชาชนแห่งชาติระบุว่า การทำรัฐประหารครั้งนี้ไม่ได้ทำเพื่อยึดครองอำนาจ แต่เป็นไปเพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประเทศ

มีการสั่งปิดพรมแดนและประกาศใช้เคอร์ฟิว ก็เพื่อทำให้เกิดข้อตกลงร่วมกันระหว่างฝ่ายการเมืองและประชาชน และเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งครั้งใหม่โดยเร็วอย่างราบรื่นที่สุด

ในส่วนของประชาชนผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล ต่างออกมาแสดงความยินดีเฉลิมฉลองกับการยึดอำนาจสำเร็จในครั้งนี้

 

 

ทว่านานาชาติที่มองมายังมาลี ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพยุโรป หรือแม้แต่กลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาเอง ต่างก็ไม่สนับสนุน

หลายชาติแถลงจุดยืนประณามการทำรัฐประหารในครั้งนี้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการคืนประชาธิปไตยแก่ประชาชนชาวมาลีโดยเร็วที่สุด

 

 

สำหรับประเทศมาลีนั้นเคยเกิดการทำรัฐประหารไปเมื่อปี 2012 หากนับระยะเวลามาจนถึงการทำรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี 2020 ก็เป็นเวลาเพียง 8 ปีที่มีการรัฐประหารสองครั้งติดกัน

 

ที่มา: aljazeera, cnn, france24, dw, trtworld, cbc


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น