พิพิธภัณฑ์เยอรมัน พบป้ายหลุมศพของหญิงสาวผู้อาจเป็นต้นฉบับของ “สโนว์ไวท์”


เป็นเรื่องที่เราทราบกันว่าสโนว์ไวท์นั้น นับว่าเป็นหนึ่งในนิทานที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดของพี่น้องตระกูลกริมม์เลยก็ว่าได้ ดังนั้นแล้วมันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายๆ คนจะคิดว่านิทานเรื่องนี้เป็นเพียงแค่เรื่องแต่งขึ้นเท่านั้น และไม่น่าจะมีมูลความจริงแฝงอยู่ได้

 

 

ว่าแต่เพื่อนๆ เชื่อหรือไม่ว่านิทานเรื่องสโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ดนั้นแท้จริงแล้วอาจจะมีมูลความจริงมากกว่าที่คิดก็เป็นได้

เพราะเมื่อล่าสุดนี้เองพิพิธภัณฑ์ Diocesan Museum ในประเทศเยอรมนี ได้ออกมารายงานการค้นพบป้ายหลุมศพของหญิงสาวในอดีตคนหนึ่ง ซึ่งพวกเขาเชื่อกันว่าเธอนี่ล่ะคือ “ต้นฉบับ” ของนางเอกนิทานดังอย่างสโนว์ไวท์

 

 

หญิงสาวผู้นี้นั้นมีนามว่า “Maria Sophia von Erthal” ชนชั้นสูงผู้มีชีวิตในช่วงศตวรรษที่ 18-19 และอาศัยอยู่ในปราสาทใกล้ๆ เมือง Lohr am Main อีกที

เรื่องราวของ Maria Sophia นั้นมีส่วนที่คล้ายกับสโนว์ไวท์อยู่หลายส่วน ไม่ว่าจะจากการที่เธอเป็นสาวงาม มีแม่เลี้ยง (ภรรยาคนที่สองของบิดา) ซึ่งใจร้ายกับตัวเธอมาก แถมยังอาศัยอยู่ในครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกระจก และมีเหมืองที่ใช้แรงงานเด็กอยู่ใกล้ๆ บ้านอีก

 

ปราสาทที่ Maria Sophia von Erthal เติบโตขึ้นมา

 

Maria Sophia สูญเสียการมองเห็นไปตั้งแต่ในตอนที่เธอเป็นสาวคล้ายกับสโนไวท์ที่หลับไปเพราะแอปเปิลพิษ แต่น่าเสียดายที่แตกต่างไปจากสโนไวท์ที่ตื่นขึ้นจากจุมพิตของเจ้าชาย Maria Sophia นั้นไม่ได้แต่งงานเลยทั้งชีวิต และเสียชีวิตไปในวัย 71 ปี

เรื่องราวความโชคร้ายของ Maria Sophia กลายเป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางในพื้นที่หลังจากนั้น ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า พี่น้องตระกูลกริมม์ ที่อาศัยอยู่ห่างจากเมือง Lohr am Main ราวๆ 50 กิโลเมตรเองก็อาจจะได้ยินเรื่องราวของเธอมาก่อน จึงนำเรื่องของหญิงคนนี้ไปแต่งเป็นนิทานไป

 

ภาพที่คาดกันว่าเป็นของ Maria Sophia von Erthal

 

แต่แม้ว่าจะมีชีวิตที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ก็ตาม อย่างน้อยๆ Maria Sophia ก็เสียชีวิตไปโดยที่มีป้ายหลุมศพ ซึ่งนับว่าเป็นอะไรที่พิเศษมากของผู้หญิงในสมัยนั้น โดยเธอนั้นถูกฝังได้ที่โบสถ์ท้องถิ่นซึ่งต่อมาโดนเผาทิ้ง (น่าจะจากสงคราม) ป้ายหลุมศพของเธอจึงตกไปอยู่ในการดูแลรักษาของคลินิกใกล้เคียงในปี 1971

และก็เป็นที่นั่นเองที่ป้ายหลุมศพของ Maria Sophia ถูกเก็บไว้ข้ามกาลเวลาเรื่อยมา จนกระทั่งมันถูกบริจาคให้พิพิธภัณฑ์ไปในที่สุด

 

ที่มา thevintagenews, ancient-origins และ bbc

Advertisement


Like it? Share with your friends!

0 Comments