CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

เพศศึกษาน่ารู้: “การช่วยตัวเอง” พฤติกรรมทั่วไปที่อาจกลายเป็นการ ‘เสพติด’ โดยไม่รู้ตัว?!

ว่าด้วยเรื่องของ ‘การช่วยตัวเอง’ ไม่ว่าจะเป็นการสาวหรรมส์ของผู้ชาย หรือการใช้นิ้วของผู้หญิง ทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมปกติของมนุษย์ เพื่อตอบสนองอารมณ์ทางเพศรูปแบบหนึ่ง

 

แต่ในขณะที่เราทำกันเป็นเรื่องปกติ มันอาจนำไปสู่อาการ “เสพติด” ได้โดยไม่รู้ตัว!!

 

พูดถึง “การช่วยตัวเอง” กันก่อน…

อย่างที่หลายคนน่าจะรู้กันอยู่แล้วว่า การช่วยตัวเองถือว่าเป็นการปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศที่ค่อนข้างดีวิธีหนึ่งเลย เพราะมันทั้งสะดวก แถมยังทำเองได้โดยไม่ต้องมีใครมาช่วย (ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ประมาณนั้น)

นอกจากนั้นมันยังส่งผลดีต่อสุขภาพเราหลายๆ ด้าน ทั้งช่วยลดความเครียด ทำให้เรารู้สึกอารมณ์ดีขึ้นกว่าเดิม นำไปสู่ความรู้สึกผ่อนคลายที่ราวกับให้เราได้ลืมช่วงเวลาอันเลวร้ายในชีวิตไปได้อย่างรวดเร็ว

 

มีคู่ครองแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเลิกช่วยตัวเองเสมอไปหรอกนะ

 

แต่เพราะอย่างนั้น เราจึงอาจเสพติดมันไปโดยไม่รู้ตัว…

ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมในรูปแบบใด แต่ถ้าหากเรายึดติดหรือทำมันมากจนเกินไป ก็อาจนำไปสู่อาการที่เรียกกันว่า “การเสพติด” ได้ และนั่นก็รวมไปถึงเรื่องของการช่วยตัวเองด้วย

บอกก่อนว่า การเสพติดการช่วยตัวเองไม่ได้ถูกบัญญัติอย่างเป็นทางการในศาสตร์ทางการแพทย์ (อ้างอิงจาก สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน หรือ APA) แต่มักถูกรวมอยู่ในหมวด OCSB ซึ่งก็คือ “พฤติกรรมทางเพศที่ไม่สามารถควบคุมได้”

และด้วยความที่มันเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ว่าใครก็ทำกัน แถมยังสามารถทำได้ในทุกๆ วันด้วยแล้ว มันจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราอาจเสพติดสิ่งนี้ไปได้โดยที่ไม่เคยสังเกตหรือรู้สึกกันมาก่อน

 

*เสพติดการช่วยตัวเอง กับ เสพติดหนังผู้ใหญ่ ถือว่าเป็นคนละอันกันนะ*

(เพราะการเสพติดหนังผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องช่วยตัวเองเสมอไป และการช่วยตัวเองก็ไม่จำเป็นที่จะต้องดูหนังผู้ใหญ่ร่วมด้วยตลอดเหมือนกัน)

 

ถ้าเสพติดแล้วจะส่งผลอย่างไรบ้าง…

แม้ว่าการช่วยตัวเองจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเราในหลายๆ ด้าน แต่หากถึงขั้นว่าเสพติดเมื่อไหร่ก็ย่อมมีผลเสียตามมาได้เหมือนกัน

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเพศศึกษาจำนวนมากระบุว่า การเสพติดการช่วยตัวเองสามารถส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ของเรากับคนรัก ทั้งเรื่องของความสุขในชีวิตคู่ รวมไปถึงเรื่องบนเตียง จนอาจนำไปสู่ปัญหาทางด้านสุขภาพจิต

หากปล่อยไว้นานๆ ก็อาจทำให้ความพึงพอใจทางเพศและการเห็นคุณค่าในตัวเองลดลงไปได้ด้วย

 

 

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเสพติดการช่วยตัวเองหรือเปล่า?

ผู้เชี่ยวชาญได้พูดถึง 9 สัญญาณที่เราสามารถสังเกตตัวเองได้ง่ายๆ มีดังต่อไปนี้…

1. เรารู้สึกว่าใช้เวลาและพลังงานไปกับการช่วยตัวเองอย่างมาก

2. การช่วยตัวเองเริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัว ทั้งที่บ้านหรือที่ทำงาน

3. เราเลือกที่จะยกเลิกนัด ไม่ออกไปพบปะกับผู้อื่น หรือเลือกที่จะกลับบ้านให้เร็วขึ้น เพราะอยากจะช่วยตัวเอง

4. เราช่วยตัวเองตามที่สาธารณะ หรือที่ที่ไม่ค่อยสะดวกสบายเท่าไหร่ (รวมไปถึงแม้ว่าจะเป็นที่ลับตาคนอย่างตามห้องน้ำสาธารณะก็ด้วย) เพียงเพราะเรารอที่จะกลับไปทำที่บ้านไม่ไหว

 

 

5. เราช่วยตัวเอง แม้ว่าจะไม่ได้รู้สึกกำหนัดเลยก็ตาม

6. เวลาที่รู้สึกไม่ดี (เช่น โกรธ, วิตกกังวล, เครียด หรือเศร้า) เราจะช่วยตัวเองเพื่อทำให้รู้สึกดีขึ้น

7. รู้สึกผิด, ไม่สบายใจ หรือรู้สึกแย่หลังจากที่ช่วยตัวเอง

8. เราช่วยตัวเอง แม้ในตอนที่เราไม่ได้อยากจะทำมันเลยก็ตาม

9. เรารู้สึกว่าการพยายามที่จะไม่คิดถึงการช่วยตัวเองนั้นมันเป็นเรื่องที่ยากมาก

หากเพื่อนๆ มีอาการดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หรือว่าใกล้เคียงกับในหลายๆ ข้อแล้วล่ะก็ นั่นอาจหมายความว่าเรากำลังเริ่มเข้าสู่อาการเสพติดการช่วยตัวเองแล้วก็ได้

 

 

ถ้าเป็นอย่างนั้น จะมีทางยับยั้งการเสพติดมั้ย?

จากผลสำรวจพบว่า คนจำนวนไม่น้อยที่เริ่มรู้สึกว่าเสพติดการช่วยตัวเอง จะสามารถยับยั้งอาการดังกล่าวได้ด้วยการพยายามออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ นอกบ้าน หรือใช้เวลาอยู่กับคนข้างกายให้มากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน บางคนที่ไม่สามารถยับยั้งมันด้วยตัวเองได้ อีกทางออกหนึ่งก็คือการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเพศศึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านชีวิตคู่

โดยแนวทางการรักษาส่วนใหญ่ก็จะมีทั้ง การบำบัด, หรือการรับคำปรึกษาแบบกลุ่ม

นอกจากนั้นแล้ว บางทีการเสพติดการช่วยตัวเองก็อาจเป็นผลมาจากอาการทางจิตอื่นๆ เช่น โรคเครียด, โรควิตกกังวล หรือไบโพลาร์ ซึ่งหากเป็นในส่วนนี้ก็อาจสามารถใช้ยารักษาของโรคนั้นๆ ควบคู่ไปได้ด้วย

 

 

#เหมียวตะปู หวังว่าเพื่อนๆ จะได้รับสาระประโยชน์จากเรื่องนี้

และอย่าลืมสังเกตตัวเองกันด้วยนะฮะ

 

เรียบเรียงโดย #เหมียวตะปู

ข้อมูลจาก: APA PsycNet , Healthline


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น