เมื่อเรากล่าวถึงชาวมองโกลในอดีต สิ่งแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงก็คงจะไม่พ้นนักรบบนหลังม้าสุดแกร่ง ที่ออกพิชิตทวีปจนกลายเป็นที่หวาดกลัวของผู้คนเป็นสิ่งแรก ถึงอย่างนั้นก็ตามในความเป็นจริงแล้วอาณาจักรมองโกลนั้น แท้จริงแล้วอาจจะมีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่าที่เราคิดไว้มากก็เป็นได้
นั่นเพราะเมื่อล่าสุดนี้เองทีมผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันมักซ์พลังค์ในเยอรมนี ได้ทำการศึกษาโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของชาวมองโกลในอดีต และพบว่าพวกเขามีระบบเศรษฐกิจอันน่าสนใจ ที่ทำให้การขยายอาณาเขตอย่างรวดเร็วของพวกเขาเป็นไปได้อย่างราบรื่นด้วยดีเสมอมา
อ้างอิงจากทีมวิจัย ในอดีตเราเคยคิดว่าระบบเศรษฐกิจของชาวมองโกเลีย พัฒนาขึ้นโดยไม่ต้องทำการเกษตรหรือเก็บเมล็ดพืชมากนัก กลับกันพวกเขาจะเลี้ยงหรือล่าสัตว์เป็นหลัก และอาศัยการชิงทรัพยากรอื่นๆ จากการปล้นสะดม
“อาณาจักรในอดีตของมองโกเลีย มักถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนเถื่อนหัวรุนแรงขี่ม้า ซึ่งไม่ใช่กลุ่มคนเราจะคิดถึง เวลาเรานึกถึงสิ่งที่จะประกอบขึ้นมาเป็น ‘อาณาจักร’ เลย” คุณ Shevan Wilkin นักเขียนหลักของงานวิจัยระบุ
การใช้ชีวิตของพวกเขาอาจจะเป็นแบบนี้จริงๆ ในช่วงก่อนยุครุ่งเรืองของมองโกล แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทำการตรวจสอบโครงกระดูกของชาวมองโกลในยุคที่เริ่มขยายอาณาจักร พวกเขากลับพบว่าคนเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอาหารการกินไปอย่างเห็นได้ชัด
โดยในบรรดาอาหารที่พวกเขาทานได้มีพืชเมล็ดอย่างข้าวฟ่างเพิ่มขึ้นมาด้วย
นั่นหมายความว่า แทนที่ชาวมองโกลทำอาชีพเพียงแค่เลี้ยงสัตว์ตามรูปแบบเผ่าเร่ร่อนทั่วไปเพียงอย่างเดียว ตามที่เราเคยคิด พวกเขากลับมีการนำเข้า และปลูกข้าวฟ่างด้วย
ซึ่งนี่ก็จัดว่าเป็นหลักฐานอย่างดีเลยว่าในช่วงเวลานี้ ชาวมองโกลได้มีใช้พื้นที่ที่พวกเขาได้มาจากการขยายอาณาเขตทั้งในการเลี้ยงสัตว์ตามปกติ และในการทำไร่ เพื่อช่วยกันรักษาปริมาณอาหารของอาณาจักรไม่ให้ร่อยหรอลงไป และเพิ่มประเภทงานเป็นการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจไปในตัว
“แทนที่จะใช้เพียงฝูงม้าทำทุกอย่าง จักรวรรดินี้คงอยู่ด้วยผู้คนที่ประกอบอาชีพทั้งการเลี้ยงสัตว์และเกษตรกรรม ซึ่งเป็นกลยุทธ์การประกอบอาชีพที่หลากหลาย กระจายความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี” คุณ Shevan Wilkin อธิบาย
นี่ถือว่าเป็นอีกงานวิจัยถึงของชาวมองโกลในอดีต ที่น่าสนใจเอามากๆ เพราะที่ผ่านๆ มากลุ่มนักรบกลุ่มนี้ มักจะถูกสนใจแต่ในด้านสงคราม จนทำให้ความรู้ด้านอื่นๆ ของพวกเขา (อย่างเช่นด้านเศรษฐกิจ) ไม่ค่อยจะเป็นที่กล่าวถึงมากนัก
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว การศึกษาอาณาจักรที่เคยกินพื้นที่ใหญ่โตขนาดนี้ในอดีต ล้วนแต่จะเป็นบันไดขั้นสำคัญ ในการทำความเข้าใจกระบวนการทางวัฒนธรรม ที่ทำให้มนุษย์เรามีรูปแบบสังคมแบบในปัจจุบันแท้ๆ
ที่มา foxnews, nature และ cosmosmagazine
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น