CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

หญิงนิวซีแลนด์วัย 33 ปี ถูกส่งตัวเข้าห้องฉุกเฉิน หลังการฝังเข็มผิดพลาดจนปอดรั่ว

เป็นเรื่องที่เราทราบกันว่าการฝังเข็มนับว่าเป็นแพทย์ทางเลือกอีกทางที่มีคนนิยมกันเป็นอย่างมากมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว แถมที่ผ่านๆ มาเราก็เริ่มที่จะเห็นงานวิจัยที่ออกมารองรับเกี่ยวกับการบรรเทาอาการต่างๆ ด้วยการฝังเข็มบ้างแล้วด้วย

 

 

แต่ก็เช่นเดียวกับการรักษาโรคอื่นๆ การฝังเข็มเองหากไม่ได้รับการลงมือโดยผู้เชี่ยวชาญที่ไว้ใจได้ มันก็สามารถนำมาซึ่งความเจ็บป่วยร้ายแรงได้เช่นกัน เหมือนดั่งหญิงชาวนิวซีแลนด์วัย 33 ปี ผู้ไม่ประสงค์ออกนามคนหนึ่ง ซึ่งต้องมีอาการปอดรั่วเพียงเพราะการฝังเข็มลึกเกินไปที่ไหล่

อ้างอิงจากตัวหญิงวัย 33 ปี ในช่วงเดือนมีนาคมเธอได้เข้าไปทำการรักษาอาการบาดเจ็บที่แขนซึ่งทำให้เธอรู้สึกเจ็บไหล่ด้วยการรักษาทางเลือกอย่างการฝังเข็ม โดยในเวลานั้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการฝังเข็ม 2 เล่มเข้าที่จุด Gallbladder 21 หรือ “จุดเจียนจิ่ง” ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณเหนือหัวไหล่ทั้งสองข้างของเธอ

 

 

เมื่อเข็มแทงเข้าไปในร่าง ผู้ป่วยได้เล่าว่าเธอรู้สึกว่าเข็มนั้นแทงเข้าไปลึกมาก และเจ็บอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างไรก็ตามเธอคิดว่านี่เป็นธรรมชาติของการฝังเข็มและไม่ได้ใส่ใจอะไรมากนัก

อย่างไรก็ตามหลังจากที่เวลาผ่านไปราวๆ 30 นาที เมื่อที่นักฝังเข็มทำการนำเข็มออกจากร่างของเธอ หญิงสาวกลับรู้สึกว่าตัวเองเจ็บที่อกข้างขวาและหายใจลำบาก ก่อนที่ความเจ็บจะลามไปหน้าอกข้างซ้ายและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในคืนเดียวกันเธอก็ต้องถูกนำตัวเข้าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล

 

 

ที่นั่น ทีมแพทย์ได้ทำการตรวจสอบอาการของผู้ป่วยโดยละเอียดและพบว่าปอดทั้งสองข้างของเธอมีอาการภาวะปอดรั่วซึ่งเกิดขึ้นจากการที่เข็มจากการฝังเข็มทิ่มปอด จนทำให้มีก๊าซจากปอดไหลออกมาในช่วงอก

อ้างอิงจากทีมแพทย์การฝังเข็มที่จุดเจียนจิ่ง นับว่าเป็นตำแหน่งการฝังเข็มที่ค่อนข้างเสี่ยง เพราะตำแหน่งของจุดเจียนจิ่งนั้นอยู่ห่างจากปอดเพียงแค่ 10-20 มิลลิเมตรเท่านั้น และที่ผ่านๆ มาเอง ราวๆ 30% ของอาการปอดรั่วในผู้ฝังเข็มก็ล้วนแต่มาจากการฝังเข็มที่จุดเจียนจิ่งทั้งนั้น

 

 

จริงอยู่ว่านี่เป็นอาการหายากที่ไม่ใช่ว่าจะเกิดกันบ่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันอาการที่อาจเกิดขึ้นเองก็เรียกได้ว่าค่อนข้างอันตราย ดังนั้นตามในบัญญัติสิทธิผู้บริโภคในการให้บริการด้านสุขภาพของนิวซีแลนด์จึงได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าความเสี่ยงในจุดนี้ควรจะถูกอธิบายแก่คนไข้ก่อนที่จะมีการดำเนินการ

ซึ่งสำหรับความจริงในข้อนี้ เจ้าหน้าที่ฝังเข็มต้นเรื่องไม่ได้มีการรายงานความเสี่ยงแก่ผู้ป่วยหรือให้ผู้ป่วยลงนามก่อนการรักษาแต่อย่างไร ดังนั้นในเบื้องต้นทางกรรมาธิการสิทธิผู้บริโภคจึงมีการแนะนำให้ผู้ฝังเข็มเข้ารับการฝึกอมรมเพิ่มเติมและกำชับให้คลินิกปฏิบัติตามบัญญัติสิทธิผู้บริโภคอย่างเคร่งครัดต่อไป

 

 

ส่วนเรื่องที่ว่าคนไข้จะมีการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ผู้ฝังเข็มหรือไม่ และทางคลินิกจะได้รับโทษใดๆ เพิ่มเติมไหมนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

 

ที่มา livescience, iflscience, sciencealert


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น